สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้น หิมะถือเป็นสิ่งที่สวยงามและต้องไปชมสักครั้งในชีวิต โดยเฉพาะทิวทัศน์หิมะฮอกไกโดที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่สำหรับคนท้องถิ่น หิมะก็แฝงความอันตรายอยู่ไม่น้อย ต่อไปนี้จะสรุปความรู้ที่จำเป็นช่วงฤดูหิมะที่ฮอกไกโด โดยวิเคราะห์ถนนน้ำแข็งอันตราย 3 แบบและวิธีการเดิน 2 แบบ ถ้าอยากกลับจากดินแดนหิมะอย่างปลอดภัย รีบบันทึกบทความนี้ไว้เลย!

ที่มาภาพ: photo AC
ไม่ใช่ทุกที่ในฮอกไกโดจะมีหิมะตกหนัก! ปริมาณหิมะแต่ละพื้นที่ต่างกันได้ถึง 10 เท่า
ฮอกไกโดเป็นเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเล มีเทือกเขาไดเซ็ทสึซังและเทือกเขาฮิดาเกะ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน ทำให้สภาพอากาศของฮอกไกโดนั้นอธิบายยากเช่นกัน แต่โดยทั่วไปสภาพอากาศในฤดูหนาวสามารถแบ่งได้เป็น 3 เขตใหญ่ คือ "ทะเลญี่ปุ่น" "ทะเลโอค็อตสค์" และ "มหาสมุทรแปซิฟิก" บริเวณใกล้ทะเลญี่ปุ่น อย่าง โอตารุ, ซัปโปโรมักจะมีเมฆมาก และมีหิมะตกเกือบทุกวัน ส่วนพื้นที่ใกล้มหาสมุทรแปซิฟิกในแถบโดโทะ เช่น โทคาจิที่ขึ้นชื่อด้านอุตสาหกรรมนม ช่วงฤดูหนาวมักจะมีท้องฟ้าแจ่มใส จนถูกเรียกว่า "โทคาจิแจ่มใส" ส่วนเมืองโมมเบทสึและอะบาชิริที่อยู่ทางเหนือติดทะเลโอค็อตสค์จะมีสภาพอากาศกลางๆ คล้ายกับทั้งสองแบบนี้

ที่มาภาพ: Japan Meteorological Agency
ฮอกไกโดที่มีพื้นที่ 22% ของประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณและจำนวนวันที่หิมะตกแตกต่างกันไปตามอิทธิพลของทะเลและภูมิประเทศข้างต้น จากการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าเมืองโฮโรคาไนโจในโดโฮคุมีปริมาณหิมะสะสมมากที่สุดที่ 1,348 เซนติเมตร ส่วนเมืองที่น้อยที่สุด คือ เมืองโทมาโคไมในโดโอที่มีปริมาณหิมะสะสม 138 เซนติเมตร ต่างกันเกือบ 10 เท่า ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่มีหิมะตกมากที่สุด เมืองใหญ่ อย่าง ซัปโปโร, อาซาฮิคาวะ, ฮาโกดาเตะ มีหิมะตกเกือบทุกวัน แต่ก็มีบางพื้นที่ อย่าง คุชิโระในโดโทะที่มีหิมะตกเฉลี่ยเพียง 70 วัน น้อยกว่านากาโนะเสียอีก และเนื่องจากคุ้นเคยกับสภาพอากาศที่มีหิมะตก รถกวาดหิมะจึงออกปฏิบัติงานทุกวัน ทำให้สภาพถนนช่วงฤดูหนาวของฮอกไกโดนั้นดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคโทโฮคุ อย่าง นีงาตะหรืออาโอโมริ
หิมะปุยนุ่มของญี่ปุ่นที่ดึงดูดนักสกีจากทั่วโลก
รู้หรือไม่ว่าหิมะเกิดขึ้นได้อย่างไร? น้ำจากพื้นดินและทะเลระเหยกลายเป็นเมฆ เมื่อไอน้ำในเมฆเจอกับอุณหภูมิต่ำบนท้องฟ้า ไอน้ำจะก่อตัวเป็นผลึกน้ำแข็ง ผลึกน้ำแข็งเหล่านี้จะเชื่อมต่อและเติบโตกับผลึกอื่นๆ แล้วตกลงมาเป็นเกล็ดหิมะที่เรารู้จักกันนั่นเอง แม้จะเป็นหิมะสีขาวเหมือนกัน แต่ปริมาณความชื้นจะส่งผลต่อคุณภาพของหิมะ เช่น หิมะที่ตกในจังหวัด อิชิคาวะและโทยามะ ส่วนใหญ่เกิดจากความชื้นที่มาจากทะเลญี่ปุ่น ทำให้หิมะมีความชื้นสูง และมักจะเป็นหิมะที่หนักและชื้น

ที่มาภาพ: photo AC
เนื่องจากฮอกไกโดอยู่ในละติจูดที่สูงกว่า อากาศจึงมีความชื้นต่ำตั้งแต่แรก ทำให้ผลึกน้ำแข็งไม่สามารถรวมตัวกันเป็นหิมะที่หนักได้ แต่จะตกลงมาเป็นหิมะละเอียดนุ่มที่เรียกว่า "หิมะปุยญี่ปุ่น (JAPOW)" หิมะปุยมีคุณสมบัติเบา เมื่อตกลงบนตัวสามารถปัดออกได้ง่ายและไม่ค่อยทำให้เสื้อผ้าเปียก ดังนั้นเวลาเที่ยวฮอกไกโด แม้หิมะจะตก ก็ไม่ต้องกังวลถ้าลืมพกร่ม ฮอกไกโดมีหิมะคุณภาพดี โดยเฉพาะที่ นิเซโกะ (ชินเซโกะ) ที่ขึ้นชื่อด้านหิมะปุยคุณภาพเยี่ยม ว่ากันว่าการเล่นสกีบนหิมะปุยจะให้ความรู้สึกเหมือนลอยตัวอยู่ในอากาศ เนื่องจากเหตุผลนี้ จึงทำให้นิเซโกะสามารถดึงดูดนักสกีทั้งในและต่างประเทศได้ทุกปี จนกลายเป็นสวรรค์ของนักสกีที่ทั่วโลกต่างอิจฉา!

ที่มาภาพ: photo AC

ที่มาภาพ: สมาคมการท่องเที่ยวนิเซโกะ
ถนนน้ำแข็งที่แม้แต่ชาวฮอกไกโดยังขยาด! 3 ระดับอันตราย หากเจอระดับสูงสุดให้หลีกเลี่ยงทันที
แม้ว่าหิมะจะเป็นสิ่งที่ดูโรแมนติก แต่ถนนหลังหิมะตกนั้นอันตรายมาก เมื่อหิมะละลายและน้ำที่ละลายกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง จะทำให้พื้นผิวถนนลื่น จำเป็นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสิ่งที่แม้แต่ชาวฮอกไกโดยังขยาด อย่าง "ไอซ์บาห์น" (アイスバーン) ซึ่งมาจากคำว่า ICE (น้ำแข็ง) ในภาษาอังกฤษ และ Bahn (ถนน) ในภาษาเยอรมัน รวมกันแปลว่า "ถนนน้ำแข็ง"

ที่มาภาพ: Daiya Distribution Center
ถนนน้ำแข็งมักเกิดขึ้นเมื่อน้ำฝนหรือน้ำจากหิมะละลายที่ตกค้างบนถนน และพบกับอุณหภูมิต่ำ จนกลายเป็นน้ำแข็งลื่น ตอนที่หิมะตก พื้นถนนจะมีหิมะสีขาวทำให้มองเห็นได้ง่าย แต่เมื่อหิมะละลายแล้วกลายเป็นน้ำแข็ง จะดูเหมือนถนนเปียกๆ ทำให้ผู้ใช้ถนนมักลดความระมัดระวังลง แต่ความจริงแล้ว ถนนได้กลายเป็นลานสเก็ตขนาดใหญ่ หากขับรถไม่ระวังอาจเกิดอุบัติเหตุลื่นไถล หรือล้มกระแทก กรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต ต่อไปนี้จะแนะนำ ถนนน้ำแข็งอันตราย 3 ระดับ หากเจอต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น!
น้ำแข็งระดับ 2 (ถนนหิมะอัด) ลื่นแต่ยังรับมือได้ / ระดับอันตราย★☆☆
เมื่อหิมะเริ่มตก ไม่นานก็จะเกิดน้ำแข็งระดับ 2 หรือ "ถนนหิมะอัด" ขึ้น สภาพนี้เกิดจากหิมะที่ทับถมบนถนนถูกรถและคนเดินเหยียบย่ำจนแน่น จะเห็นรอยล้อรถบนพื้นคล้ายไอศกรีมแซนด์วิช ชั้นล่างสุดเป็นหิมะที่กลายเป็นน้ำแข็ง ส่วนด้านบนมีหิมะร่วนปกคลุม พบได้บ่อยที่ทางม้าลายหรือทางเท้าที่รถกวาดหิมะผ่าน แม้จะลื่นแต่โดยรวมยังปลอดภัย แค่เดินให้ถูกวิธีและรักษาการทรงตัวก็ไม่น่าจะลื่นล้ม

ที่มาภาพ: Daiya Distribution Center
น้ำแข็งระดับ 1 (ถนนหิมะอัดขั้นกว่า) ต้องระวังอย่างมาก / ระดับอันตราย★★☆
เมื่อน้ำแข็งระดับ 2 พัฒนาต่อไป จะกลายเป็นน้ำแข็งระดับ 1 หรือ "ถนนหิมะอัดขั้นกว่า" ที่อันตรายมากขึ้น เมื่อหิมะถูกรถและคนเดินเหยียบย่ำต่อเนื่อง เศษสิ่งสกปรกที่ตกค้างทำให้น้ำแข็งมีสีดำสกปรก มองดูเหมือนถนนธรรมดา แต่ความจริงเป็นน้ำแข็งทั้งหมด การเดินบนนี้อันตรายเหมือนเดินเท้าเปล่าบนลานสเก็ต เพราะมีเม็ดทรายและหินปนอยู่ในน้ำแข็ง ถ้าลื่นล้มแล้วเอามือยันพื้นอาจบาดเจ็บได้ หากเป็นบริเวณตัวเมือง อาจสังเกตได้ง่ายจากสีที่เปลี่ยนไป แต่บริเวณชานเมืองน้ำแข็งจะสะอาดกว่า ทำให้สังเกตยากขึ้น จึงต้องระวังเป็นพิเศษ!

ที่มาภาพ: grape
น้ำแข็งชั้นดี วิธีที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยง / ระดับอันตราย ★★★
ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีหิมะเป็นเวลานานต่างรู้ดีว่า ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดไม่ใช่ตอนที่หิมะตก แต่เป็นช่วงที่หิมะเริ่มละลาย เมื่อถนนกลายเป็นน้ำแข็งและมีหิมะตกลงมาอีกเล็กน้อย ทำให้พื้นผิวดูเหมือนหิมะใหม่ แต่จริงๆ แล้วใต้ผิวหน้ามีน้ำแข็งที่ลื่นมาก เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นชั่วคราว หิมะใหม่เริ่มละลาย จนกลายเป็นเกล็ดหิมะละเอียด อย่าง น้ำแข็งชั้นดีที่อันตรายที่สุด ผิวหน้าที่เป็นเกล็ดหิมะละเอียดนั้นมีคุณสมบัติลื่น ถ้าติดพื้นรองเท้าจะทำให้ลื่นมากขึ้นเป็นสองเท่า แม้แต่ชาวฮอกไกโดที่ชำนาญยังบอกว่า วิธีที่ถูกต้องที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงเมื่อเจอสภาพแบบนี้

ที่มาภาพ:grape
เคล็ดลับการเดินบนหิมะ "รักษาสมดุล ก้าวสั้นๆ ใจเย็นๆ ค่อยๆ เดิน"
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเมื่อเจอ "ถนนน้ำแข็ง" คือ การเสียการทรงตัว คุณมาเอฮาระ ชาวฮอกไกโดกล่าวว่า "ย่อตัวลงให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำ ก้าวสั้นๆ เดินช้าๆ ควบคุมแรงลื่นไถลให้อยู่ในระดับที่ไม่ล้ม" เป็นวิธีการเดินที่ปลอดภัยที่สุด จากการทดลองของเขาพบว่า "การเดินแบบเพนกวินไถลน้ำแข็ง" และ "การเดินแบบสวนสนาม" มีประสิทธิภาพมากที่สุด แน่นอนว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการเดินบนน้ำแข็ง ถนน หรือกลางแจ้ง ควรเลือกใช้ทางเดินใต้ดินเมื่อออกไปข้างนอก
วิธีเดินแบบเพนกวินไถลน้ำแข็ง: เดินโดยให้เท้าทั้งสองข้างแนบพื้น
อย่างชื่อบอก "การเดินแบบเพนกวินไถลน้ำแข็ง" คือ การเดินโดยให้เท้าทั้งสองข้างแนบพื้นไปข้างหน้า เพราะตอนที่ยกขาข้างหนึ่งขึ้นหรือกำลังจะวางเท้าลงเป็นจังหวะที่อันตรายที่สุด ดังนั้นการให้เท้าทั้งสองข้างแนบกับพื้น แล้วไถลไปข้างหน้าจะช่วยให้ทรงตัวและป้องกันการล้มได้มากกว่า
วิธีเดินแบบสวนสนาม: ควบคุมระยะการเคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด
"การเดินแบบสวนสนาม" คือ การเดินโดยยกขาขึ้น-ลงในมุม 90 องศา ทำให้เท้าที่เหยียบลงพื้นนั้นอยู่ในแนวดิ่งไม่กระจายไปด้านข้าง จึงช่วยรักษาสมดุลและป้องกันการลื่นล้มจากการเสียการทรงตัวได้ดี
ห้ามใส่รองเท้ากีฬา! ต้องเตรียมหมวกไหมพรม ถุงมือ และบูทกันลื่นให้ครบ

ที่มาภาพ: catchy.
แม้แต่คนที่อาศัยอยู่ในฮอกไกโดมาตั้งแต่เด็ก ทุกฤดูหนาวก็อาจล้มประมาณ 1-2 ครั้ง เพื่อลดความรุนแรงเมื่อล้ม การเลือกเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เสริม จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญในการเลือกเครื่องแต่งกายส่วนบน คือ หมวกแบบที่ปิดหู และถุงมือหนาที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะต้องการลดแรงกระแทกเมื่อล้ม
สำหรับรองเท้าบูทหิมะ ให้เลือกรุ่นที่มีคุณสมบัติครบทั้ง "กันลื่น กันน้ำ และให้ความอบอุ่น" โดยเฉพาะรุ่นที่มีดอกยางลึกหรือมีปุ่มกันลื่น จะช่วยเพิ่มการยึดเกาะ และพื้นรองเท้านิ่มจะช่วยกันลื่นได้ดียิ่งขึ้น รองเท้าบูทคุณภาพดี ถือเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับการท่องเที่ยวฮอกไกโดช่วงฤดูหนาว
การเที่ยวฮอกไกโดหน้าหนาวจะสนุกและปลอดภัยที่สุด เมื่อเตรียมตัวให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัย เพื่อให้คุณได้เก็บภาพความทรงจำสวยๆ กลับบ้านพร้อมรอยยิ้ม
☞ อ่านเพิ่มเติม
・อุณหภูมิติดลบทั่วญี่ปุ่น! คลื่นหนาวรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี พร้อมเตือนพื้นที่เสี่ยงหิมะถล่ม
・รีวิวลานสกีซัปโปโร 2025: แนะนำที่เล่นสกีฮอกไกโด + ทริปโจซังเคย์ออนเซ็น
・วิธีเดินทางในซัปโปโร 2025 ฉบับสมบูรณ์: JR Pass, รถไฟใต้ดิน, รถราง [อัพเดตล่าสุด]
・ป่าต้นเบิร์ชข้าง "ต้นเซเว่นสตาร์" ที่บิเอะฮอกไกโดถูกตัดโค่น! วิวสุดคลาสสิกหายไป สาเหตุหลักเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว
・เมษานี้ ชินคันเซ็นฮอกไกโดขึ้นราคา 2025 - เปิดจอง JR Pass ราคาพิเศษสำหรับนักเรียนไทยในญี่ปุ่น
・วางแผนเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง 2025 - แนะนำวิธีจองตั๋ว ที่พัก เตรียมตัว [ฉบับสมบูรณ์]
แหล่งข้อมูล: กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น, สภาส่งเสริมการสกีฮอกไกโด, grape, NHK, เมืองโอชามัมเบะ