แม้ว่าคนไทยจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นก็ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติทางวัฒนธรรมอีกมากมายที่ทำให้ชาวต่างชาติที่มาเยือนครั้งแรกงงงวยและไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างเช่น ประตูแท็กซี่ที่เปิด-ปิดอัตโนมัติ, การกินคาร์โบไฮเดรตคู่กับคาร์โบไฮเดรต ผู้หญิงถ้าไม่กำจัดขน จะถูกมองว่าไม่ดูแลตัวเอง และอื่น ๆ อีกมามาย บทความนี้ทาง "JapaiJAPAN" ได้รวบรวม "7 วัฒนธรรมญี่ปุ่นสุดช็อก!" มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน!
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ①:นั่งแท็กซี่ญี่ปุ่น ประตูหลังเปิดเองอัตโนมัติ!
เชื่อว่าตอนที่นักท่องเที่ยวนั่งแท็กซี่ในญี่ปุ่นครั้งแรก ทุกคนต้องตกใจแน่ ๆ ตอนที่กำลังจะยื่นมือไปเปิดประตูรถ แต่ประตูรถเปิดเองอัตโนมัติ! แต่ทำไมประตูรถแท็กซี่ญี่ปุ่นถึงเป็นประตูอัตโนมัติกันล่ะ? จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของโตเกียวนี่แหละ เมื่อปี 1964 ตอนที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรก เพื่อให้แขกผู้มีเกียรติจากทั่วโลกรู้สึกถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่นของประเทศญี่ปุ่น พวกเขาเลยคิดค้นประตูรถยนต์อัตโนมัติที่คนขับสามารถควบคุมการเปิด-ปิดได้ เพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกเหมือนได้รับการต้อนรับอย่างดี นอกจากนี้ ตามข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของผู้ผลิตประตูอัตโนมัติ "Toshin Tech" บอกว่า เมื่อก่อนคนขับแท็กซี่ต้องลงมาเปิดปิดประตูให้ลูกค้าด้วยตัวเอง แต่เพราะที่นั่งของคนขับอยู่ฝั่งถนน ทำให้คนขับเสี่ยงอันตรายไม่น้อยตอนเปิดประตูและเดินไปมา ถ้าสามารถควบคุมประตูหลังได้โดยตรงจากที่นั่งคนขับเลยไม่เพียงแต่ปลอดภัยขึ้น แถมยังประหยัดเวลาได้อีกด้วย
ที่จริงแล้วมีแค่ประตูหลังฝั่งซ้ายเท่านั้นที่จะเปิดอัตโนมัติ ประตูหลังฝั่งขวามักจะถูกห้ามเปิดเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เนื่องจากอยู่ติดกับถนน ส่วนประตูฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าต้องเปิดปิดด้วยมือตัวเอง นอกจากนี้ ต้องระวังเป็นพิเศษว่ารถประเทศญี่ปุ่นนั้นพวงมาลัยอยู่ฝั่งขวา นักท่องเที่ยวทั้งหลายอย่าเผลอเปิดประตูฝั่งคนขับแล้วจะขึ้นรถล่ะ ไม่งั้นอาจจะเจอหน้าตาตกใจสุดๆ ของคนขับเลย! แล้วก็อีกอย่าง ประตูหลังของแท็กซี่ญี่ปุ่นนั้นควบคุมด้วยปุ่มกดหรือด้ามจับไฟฟ้า ถ้าผู้โดยสารต้องการเปิดเองบ่อย ๆ อาจจะทำให้อะไหล่เสียหายได้ง่าย คนนั่งเบาะหลังอย่าลืมเตือนตัวเองก่อนขึ้นรถทุกครั้งด้วยล่ะ!
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ②:คาร์โบไฮเดรตคู่คาร์โบไฮเดรต นี่แหละชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น!
เกี๊ยวซ่า ราเมน ผัดหมี่ พวกนี้ก็กินเป็นอาหารจานหลักได้แล้ว แต่ทำไมคนญี่ปุ่นยังต้องกินคู่กับข้าวเปล่าอีกชามด้วยล่ะ? จริง ๆ มันก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรซับซ้อนมากนัก ก็แค่ว่าราเมน ผัดหมี่ แล้วก็เกี๊ยวซ่าที่ทหารญี่ปุ่นเอากลับมาจากจีนหลังสงครามนั้น จะผ่านการปรุงรสชาติใหม่ ซึ่งรสชาติค่อนข้างเค็ม จึงเหมาะสำหรับกินคู่กับข้าว แถมประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่กินข้าวเป็นหลักอยู่แล้ว อาหารสองอย่างที่ดูเหมือนไม่เข้ากันก็เลยถูกกินคู่กันแบบนี้ ส่วนเรื่องที่อาหารประเภทเส้นของญี่ปุ่นค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลักนี่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นเจอวิกฤตขาดแคลนอาหาร ก็เลยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากอเมริกา วัฒนธรรมการกินขนมปังเลยแพร่หลาย ทำให้อาหารประเภทแป้งเริ่มเป็นกระแสมากขึ้น
ต่อมาเมื่อผลผลิตอาหารเริ่มมั่นคงขึ้น แม้ว่าการกินเกี๊ยวหรือราเมนก็อิ่มท้อง แต่การกินคู่กับข้าวทำให้รู้สึกอิ่มมากกว่า ไม่ใช่แค่พนักงานออฟฟิศ นักเรียน หรือคนทำงานจะได้อิ่มท้องมีแรงมากขึ้น และยังช่วยรักษาความสำคัญของ "ข้าว" ไว้ด้วย ดังนั้นแทนที่จะขายแต่อาหารประเภทเส้น ร้านอาหารญี่ปุ่นจึงนิยมนำเสนอชุดอาหาร "เกี๊ยว+ข้าว", "ราเมน+ข้าว", "ผัดหมี่+ข้าวผัด" แบบนี้ การกินคาร์โบไฮเดรตคู่กับคาร์โบไฮเดรตจึงกลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนทั่วไปไปแล้ว
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ③:ทำไมคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว กลับเปิดเผยอายุของทุกคนบนทีวีล่ะ?
คนที่เคยดูข่าวหรือรายการทีวีญี่ปุ่นน่าจะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง นักการเมือง หรือคนทั่วไป เราจะเห็นการใส่อายุไว้ในวงเล็บหลังชื่อคน เหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าสื่อญี่ปุ่นชอบ "บอกอายุจริง" เพื่อสามารถสร้างภาพจำแก่คนอื่นได้อย่างรวดเร็ว และเหตุผลที่ทำไมคนญี่ปุ่นถึงพยายามที่จะรู้อายุจริงของคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก ก็เพราะอยากรู้ว่าคนนั้นเกิดช่วงยุคอะไร น่าจะชอบอะไร จะได้หาเรื่องคุยกันถูก เหตุผลที่สองคือ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสอย่างมาก ถ้ารู้อายุจริงก่อน จะได้ตัดสินใจได้ว่าจะคุยแบบเพื่อนหรือต้องใช้คำสุภาพ เรียกได้ว่าอายุเป็น "ความลับที่ไม่ลับ" ของคนญี่ปุ่นเลยล่ะ!
แม้ว่านี่จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สื่อญี่ปุ่นใช้กันมานาน แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันบ้างแล้วล่ะ มีคนบอกว่าวิธีนี้มันเก่าไปแล้ว ซ้ำร้ายยังอาจทำให้เกิดภาพจำที่ไม่ดีด้วย แถมยังไม่เคารพความต้องการของแต่ละคนอีกต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหนุ่มน้อยวัย 25 ปีคนนึงออกมาแสดงความเห็นในสื่อ บางคนก็อาจจะมองว่าเชื่อถือไม่ได้ซะงั้น แต่สำหรับดาราตะวันตกนั้น อายุไม่ใช่เรื่องที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษหรอก แฟน ๆ ก็ไม่ได้สนใจด้วย ดังนั้นถ้าเราเห็นอะไรแบบ Lady Gaga (38 ปี) หรือ Tom Cruise (62 ปี) บนทีวี มันก็จะรู้สึกแปลก ๆ ยังไงไม่รู้ แถมยังทำให้ดาราที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นรู้สึกไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้มาก ๆ อีกด้วย
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ④:คนญี่ปุ่นดูภาพยนตร์ต่างชาติ ต้องดูแบบพากย์เสียงญี่ปุ่น?
คนที่เคยดูหนังในโรงที่ประเทศญี่ปุ่นอาจจะมีประสบการณ์ ซื้อตั๋วหนังฮอลลีวูดแต่พอเข้าโรงไปก็เพิ่งรู้ตัวว่านักแสดงในหนังพูดภาษาญี่ปุ่นกันหมดเลย!? พอดูตั๋วดี ๆ ถึงจะสังเกตบนตั๋วเขียนไว้ว่า "
แหล่งที่มา: Netflix Japan
จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าขนาดและความละเอียดของทีวีจะพัฒนาไปไกลมากแล้ว แต่จำนวนตัวอักษรที่แสดงบนหน้าจอยังคงมีจำกัด ดังนั้นคนจำนวนมากจึงยังคิดว่าการดูคำบรรยายต้นฉบับนั้นไม่สะดวก ไม่เพียงแต่อ่านไม่ทันเท่านั้น แต่ยังทำให้เสียสมาธิและไม่สามารถดื่มด่ำกับเนื้อเรื่องได้ จึงชอบดูแบบพากย์เสียงที่เข้าใจได้ทันทีที่ฟังมากกว่า นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมี "อุตสาหกรรมนักพากย์" ที่เติบโตเต็มที่และน่าภาคภูมิใจ คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังอยากดูเวอร์ชันพากย์เสียง เพราะมีนักพากย์ที่ชื่นชอบมาให้เสียงด้วยล่ะ
แหล่งที่มา:Toho Movie Channel
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ⑤:ผู้หญิงญี่ปุ่นไม่กำจัดขน = ไม่ดูแลตัวเอง?
ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่เพิ่งได้ยินครั้งแรกอาจจะยังงงกับ "วัฒนธรรมการกำจัดขน" พอถึงฤดูร้อนทีไร โฆษณา "กำจัดขนทั้งตัว" ก็โผล่มาให้เห็นทั่วไปบนรถไฟหรือป้ายไฟในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเรียกขนที่ไม่มีประโยชน์ว่า "มุดาเกะ" ดังนั้นหลายคนคิดว่าการไม่มีขนตั้งแต่จมูกลงไปเป็นมารยาทพื้นฐานไปแล้ว ถ้าเผลอให้คนอื่นเห็นขนที่โผล่ออกมา อาจทำให้ดูเป็นคนไม่ดูแลตัวเอง
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีนิสัยแบบนี้ล่ะ? จริง ๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับรสนิยมความงามของชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่สมัยเฮอัน หญิงสาวชนชั้นสูงสมัยก่อน เขาต้องการให้หน้าผากดูสวยสะอาด จึงต้องถอนคิ้วทั้งหมด และวาดคิ้วใหม่เอง แถมในบันทึกสมัยปลายยุคเอโดะยังเขียนไว้ว่า เพื่อกำจัดขนแขนขาส่วนเกิน จึงได้ผลิตครีมกำจัดขนขึ้นเอง บวกกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่ที่ซึมซับเข้ามา ทำให้ผิวที่ดูเรียบเนียน สัมผัสแล้วลื่นนุ่ม กลายเป็นมาตรฐานความงามที่สำคัญของคนญี่ปุ่นไปแล้ว ปัจจุบันร้านกำจัดขนทั่วตัวหลาย ๆ แห่งยังโฆษณาว่าเริ่มทำได้ตั้งแต่ชั้นประถมปลายเลย ทำเอาคนต้องอึ้งกับความหมกมุ่นในการกำจัดขนของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว!
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ⑥:ร้านอาหารญี่ปุ่นเสิร์ฟน้ำเย็นตลอดทั้งปีเลย?
หลายคนที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นคงเข้าใจความรู้สึกนี้ดี บางทีไปเที่ยวช่วงฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูหนาว อากาศข้างนอกหนาวจนขนลุก กว่าจะหาร้านอาหารสักร้านให้เข้าไปพักผ่อนคลายหนาวได้ ไม่คิดว่าพอนั่งลงแล้ว พนักงานจะเสิร์ฟน้ำเย็น ถ้าขอน้ำร้อนเพิ่มอาจเจอสายตางง ๆ จากพนักงานอีกด้วย คนที่เคยไปประเทศญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นว่าร้านอาหารญี่ปุ่นจะบริการน้ำเย็นตลอดทั้งสี่ฤดู ซึ่งว่ากันว่า เมื่อก่อนตอนที่เทคโนโลยีการทำน้ำแข็งยังไม่แพร่หลาย น้ำแข็งเป็นของที่ใช้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ประเพณีที่ร้านค้าเสิร์ฟน้ำเย็นให้ลูกค้าจึงยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
อีกเหตุผลนึงก็คือ น้ำประปาของประเทศญี่ปุ่นสามารถดื่มได้โดยไม่ต้องต้ม แต่ว่าน้ำอุณหภูมิห้องก็ไม่อร่อยเท่าน้ำเย็น ๆ ส่วนน้ำร้อนก็ต้องเสียเวลาต้มอีก เลยทำให้ร้านอาหารชอบเสิร์ฟน้ำเย็นใส่น้ำแข็งให้ลูกค้ามากกว่า แต่ช่วงหลัง ๆ มานี่ บางร้านเริ่มมีชาร้อนให้บริการกันมากขึ้นแล้ว ถ้าอยากได้น้ำอุ่นๆ ก็ลองถามดูได้ สามารถถามแบบนี้:"Sayu(さゆ)wa Arimasuka?"(มีน้ำอุ่นไหม?)หรือ "O yu(ゆ)wa Arimasuka?"(มีน้ำร้อนไหม?)
เรื่องช็อกทางวัฒนธรรม ⑦:ญี่ปุ่นกินซุปด้วยตะเกียบ ไม่ใช้ช้อน?!
ข้อสุดท้ายนี่ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย คนญี่ปุ่นดื่มซุปโดยไม่ใช้ช้อนเหรอเนี่ย? นักท่องเที่ยวหลายคนอาจเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ ตอนไปกินข้าวดงบุริที่ร้านอาหารจะมีแต่ตะเกียบ อยากกินซุปก็ต้องถามพนักงานว่ามีช้อนไหม จริง ๆ แล้วคนญี่ปุ่นเขาชินกับการดื่มซุปมิโสะด้วยตะเกียบ เพราะในวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้น อาหารอย่างซุปหรือข้าวต้องยกชามขึ้นมาชิมด้วยปากโดยตรง ถ้าใช้ช้อนจะถือว่าผิดมารยาท และกลายเป็นไม่สุภาพไปเลย การกินข้าวดงบุริต่าง ๆ ก็เช่นกัน
อีกอย่างคือ ก้นถ้วยซุปแบบญี่ปุ่นค่อนข้างแคบ ตัวถ้วยสูง แถมยังต้องวางไว้ทางขวาของจานข้าวอีก ถ้าเอาช้อนว่างไว้ในถ้วย อาจทำให้หกได้ง่าย ๆ เลย แต่ที่ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่าซุปทุกอย่างต้องกินด้วยตะเกียบ หากเป็นซุปจีนที่ข้น ๆ ก็จะมีช้อนเซรามิกให้ ส่วนซุปตะวันตกก็จะมีช้อนสแตนเลสให้ พูดง่าย ๆ ก็คือ "มีแค่ซุปญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ต้องใช้ตะเกียบกิน"!
ยังมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวของญี่ปุ่นอีกเยอะแยะที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองก็คงไม่ทันสังเกต หรือถึงแม้ว่าตอนเจอกับตัวเองอาจจะตกใจเล็กน้อย แต่การได้สัมผัสความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเดินทางเลยล่ะ!
☞ อ่านเพิ่มเติม
・ต่อราคาในย่านชอปปิง เดินไปกินไปไม่ควรทำ? มารยาทอะไรอีกที่ไม่ควรทำตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ดูได้ที่บทความนี้เลย!