เมื่อมาญี่ปุ่น เชื่อว่า "เนื้อย่าง" มักจะเป็นเมนูที่หลาย ๆ คนเลือกทาน ไม่ว่าจะเป็นแบบบุฟเฟ่ต์เนื้อย่างยากินิกุ หรือ เนื้อย่างแบบ อะลาคาร์ต แต่ไม่ว่าร้านเนื้อย่างประเภทไหน ๆ ก็จะมีมารยาทในการกินที่ควรปฏิบัติตามอยู่ด้วย ต่อไปนี้คือ 5 ข้อห้ามในการรับประทานเนื้อย่างที่ญี่ปุ่น อ่านคอนเทนต์นี้ไว้ จะได้ไม่เผลอทำพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจนะ!
พฤติกรรมไม่ควรทำในร้านเนื้อย่างที่ญี่ปุ่น
・ 1. สั่งมากเกินไปในคราวเดียว
・ 2. ส่งอาหารให้กันผ่านตะเกียบ
・ 3. จิ้มซอสมากเกินไป
・ 4. ใช้มือรองซอสเพราะกลัวว่าจะหยด
・ 5. เช็ดโต๊ะด้วยผ้าเช็ดมือ
☞รายการคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการรับประทานอาหารในร้านอาหารเนื้อย่าง
พฤติกรรมไม่ควรทำ 1 : "สั่งมากเกินไป" ─ เพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีบริการห่อกลับ อาหารที่สั่งเหลือจึงกลายเป็นของเหลือทิ้งทันที!
เมื่อเข้าไปในร้านอาหารเนื้อย่างและได้กลิ่นเนื้อย่างหอมกรุ่น พร้อมท้องหิว ๆ จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะสั่งจนลืมตัวเกินกว่าที่จำเป็น และหลายต่อหลายครั้งก็จบลงที่การทานไม่หมด และที่ญี่ปุ่นก็ไม่มีบริการห่อกลับบ้าน ดังนั้นอาหารที่ทานเหลือจึงกลายเป็น Food Waste ไปอย่างน่าเสียดาย
ที่ร้านเนื้อย่างในญี่ปุ่น อาหารที่ทานไม่หมด จะไม่สามารถนำกลับบ้านได้
แหล่งที่มาของภาพ : photo AC
แม้ว่ากฎหมายจะไม่มีการห้ามอย่างชัดเจน แต่เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารและหลีกเลี่ยงอาหารเป็นพิษ คนญี่ปุ่นจึงไม่มีนิสัยชอบเก็บอาหารที่ทานไม่หมดกลับบ้าน ยกเว้นร้านค้าสาขาบางแห่งที่ให้บริการอาหารปรุงสุกแบบบรรจุกล่อง ดังนั้นอาหารที่ลูกค้าทานไม่หมดก็จะต้องทิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองมาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดอาหารเหลือทิ้งอย่างน่าเสียดาย เราขอแนะนำว่าอย่าสั่งมากเกินไปในคราวเดียว ควรสั่งทีละน้อยและค่อย ๆ ทานอย่างเอร็ดอร่อยดีกว่านะ!
พฤติกรรมไม่ควรทำ 2 : "ส่งอาหารให้กันผ่านตะเกียบ" ─ การส่งอาหารให้คนอื่นผ่านตะเกียบถือเป็นลางร้ายนะ!
เมื่อกินเนื้อย่างเพลิน คุณก็อาจจะอยากแบ่งเนื้อชิ้นอร่อยให้เพื่อน ๆ ได้กินด้วยการคีบให้กัน แต่รู้หรือไม่ว่าสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว "การส่งอาหารผ่านตะเกียบ" นั้นคล้ายกับประเพณีการใช้ตะเกียบส่งกระดูกให้ผู้อื่นหลังงานเผาศพของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกถึงโชคร้าย จึงกลายเป็นข้อห้ามเมื่อใช้ตะเกียบในญี่ปุ่น ข้อห้ามนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเนื้อย่างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับประทานโดยใช้ตะเกียบโดยทั่วไปด้วย!
ถ้าไม่คีบแล้วต้องทำอย่างไรล่ะ ? ถ้าอย่างนั้น เราขอแนะนำให้คุณค่อย ๆ เตือนเพื่อนร่วมโต๊ะว่า "เนื้อพร้อมแล้ว!" และปล่อยให้พวกเขาหยิบเนื้อเอง หากต้องหยิบอาหารให้ผู้อื่น ขอแนะนำให้คีบใส่จานแล้วจึงยื่นจานให้ จะเป็นการถูกมารยาทและถูกสุขลักษณะมากกว่า นอกจากนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความสกปรก ควรใช้ที่คีบเนื้อเพื่อจับเนื้อดิบที่จะย่างเท่านั้น และใช้ตะเกียบคีบเนื้อย่างได้โดยตรง หรือคุณสามารถขอใช้ที่คีบเนื้อที่สะอาดจากพนักงานร้านมาใช้ได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ควรแยกที่คีบที่ใช้สำหรับคีบเนื้อดิบและเนื้อสุกออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อสุขอนามัยที่ดีนะ!
พฤติกรรมไม่ควรทำ 3 : "น้ำตาตะเกียบ" ─ การจิ้มซอสมากเกินจนหยดจากตะเกียบถือว่าเป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างแรง!
การใช้ซอสมากเกินไปไม่เพียงแต่จะกลบรสชาติดั้งเดิมของเนื้อเท่านั้น แต่ซอสที่มากเกินไปจะหยดจากเนื้อย่างหรือจากตะเกียบได้ง่ายอีกด้วย กรณีที่น้ำซุปหรือซอสหยดติ๋ง ๆ แบบนี้ในญี่ปุ่นเรียกว่า "น้ำตาตะเกียบ" ไม่เพียงแต่จะถือว่าเสียมารยาทสำหรับคนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสที่จะเปื้อนเสื้อผ้าหรือทำให้โต๊ะสกปรก และซอสที่มากเกินอาจไหลเลอะมือของคุณได้อีกด้วย
ซอสที่มากเกินไปจนหยดจากตะเกียบนั้นดูน่าอายไม่น้อย และทำให้โต๊ะหรือแม้แต่เสื้อผ้าเปื้อนอีกด้วย
แหล่งที่มาของภาพ : photo AC
เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ ลองจุ่มตะเกียบลงในซอสอย่างเบามือ ให้ตะเกียบนั้นเปื้อนไม่เกิน 2 เซนติเมตร และใช้ขอบจานปาดซอสส่วนเกินก่อนรับประทาน หรือจะใช้ถ้วยซอสหรือจานซอสเล็ก ๆ เพื่อรองก็ได้ แค่นี้ก็เอร็ดอร่อยกับรสชาติของเนื้อและรักษาความสะอาดของโต๊ะไว้ได้แล้ว!
พฤติกรรมไม่ควรทำ 4 : "ใช้มือรองแทนจานไม่ได้" ─ การเอามือรองใต้อาหารถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพนะ!
เพื่อไม่ให้ซอสหยดลงบนโต๊ะตามข้อที่กล่าวมาข้างต้น หลาย ๆ คนอาจเอามือวางรองไว้ใต้อาหารโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมนี้เรียกว่า "ใช้มือรองแทนจาน" ถึงแม้จะไม่ได้ดูเสียมารยาท แต่ก็ถือเป็นเรื่องไม่ควรทำอยู่ดี ถ้ากลัวซอสจะหยดลงโต๊ะโดยไม่ได้ตั้งใจเวลากินเนื้อย่าง เราขอแนะนำให้ใช้จานซอสหรือจานเล็กรองจะดีกว่า
ไม่ใช่แค่เนื้อย่างเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะทานอาหารประเภทไหน การ “ใช้มือรองแทนจาน” ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ ทั้งการกินนิกิริซูชิ อิซากายะ และอาหารประเภทอื่น ๆ หากไม่สามารถตักอาหารขึ้นมารับประทานโดยตรงได้ คุณควรวางอาหารลงในจานเล็กก่อนรับประทานอาหาร หากต้องการหยิบอาหารจากจานใหญ่ ก็ควรนำจานเล็กของตัวเองวางใกล้อาหาร และอย่า "ใช้มือรองแทนจาน" เพื่อตักหรือคีบอาหารมาวางบนจาน
พฤติกรรมไม่ควรทำ 5 : "เช็ดโต๊ะด้วยผ้าเช็ดมือ"
ร้านอาหารหลายแห่งในญี่ปุ่นมี "ผ้าเช็ดมือร้อน" ให้ลูกค้าใช้ทำความสะอาดมือก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งผ้าเช็ดมือนี้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้แขกเช็ดมือเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นผ้าเช็ดโต๊ะ และไม่สามารถใช้เช็ดใบหน้าหรือปากได้ นอกจากนี้หลังจากใช้ผ้าเช็ดมือแล้ว อย่าลืมม้วนกลับเป็นรูปทรงเดิมแล้วเก็บออกไป จะเป็นการสุภาพที่สุด!
ผ้าเช็ดมือตามร้านอาหารญี่ปุ่นใช้เช็ดมือเท่านั้น ไม่ควรใช้เช็ดใบหน้า ปาก หรือโต๊ะ
แหล่งที่มาของภาพ : photo AC
แล้วถ้าอยากเช็ดโต๊ะที่เปื้อนให้สะอาดต้องทำอย่างไรกันล่ะ ? คำตอบคือ ขอให้พนักงานร้านทำความสะอาดโดยตรงจะเร็วที่สุด ! หากไม่ต้องการเรียกพนักงานก็ใช้ผ้าเช็ดปากหรือทิชชูเปียกแบบใช้แล้วทิ้งเช็ดก็ได้
รายชื่อคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นทั่วไปสำหรับการรับประทานอาหารที่ร้านเนื้อย่างหรือยากินิกุ
สุดท้ายนี้ เราได้รวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อย่างและมารยาทในร้านเนื้อย่างไว้แล้วที่นี่ เพื่อที่คุณจะได้เป็นนักท่องเที่ยวที่ "เชี่ยวชาญวิธีการกิน" เมื่อมากินเนื้อย่างที่ญี่ปุ่นในครั้งหน้า!
ภาษาญี่ปุ่น | การออกเสียง | ความหมาย |
焼肉 | ยากินิกุ | เนื้อย่าง |
持ち帰り | โมจิคาเอริ | ห่อกลับบ้าน |
食べ放題 | ทาเบโฮได | ทานได้ไม่อั้น (บุฟเฟ่ต์) |
タレ | ทาเระ | ซอส, น้ำจิ้ม |
食材 | โชะคุไซ | วัตถุดิบ |
豚肉 | บุตะนิกุ | เนื้อหมู |
鶏肉 | โทรินิกุ | เนื้อไก่ |
牛肉 | กิวนิกุ | เนื้อวัว |
串焼き | คุชิยากิ | ของย่างเสียบไม้ |
お箸 | โอะฮาชิ | ตะเกียบ |
箸渡し | ฮาชิวาตาชิ | การส่งต่อบางสิ่งด้วยตะเกียบ และอีกฝ่ายรับด้วยตะเกียบ |
涙箸 | นามิดะบาชิ | น้ำซอสหยดจากปลายตะเกียบ |
手皿 | เทะซาระ | การใช้มือรองใต้อาหารแทนจาน |
タレ皿 | ทาเระซาระ | จานซอส |
おしぼり | โอชิโบริ | ผ้าเช็ดมือ |
トング | ทงงุ | ที่คีบเนื้อ |
テーブル | เทบุรุ | โต๊ะ |
網交換 | อามิ โคคัง | เปลี่ยนตะแกรงย่าง |
หากคุณต้องการสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแท้จริงให้มากขึ้น นอกเหนือจากการยอมรับและปฏิบัติตามมารยาทญี่ปุ่นอย่างจริงจังแล้ว การระวังเรื่องพฤติกรรมในการรับประทานอาหารข้างต้น 5 อย่างที่นักท่องเที่ยวมักทำบ่อย ๆ เมื่อรับประทานอาหารในร้านเนื้อย่างที่ญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นครั้งหน้าที่มาทานเนื้อย่างที่ญีปุ่น โปรดจำให้ขึ้นใจจะได้ไม่ทำพลาดนะ!
คำอธิบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ของอักษรโรมันจิ
เพื่อให้ทุกคนสามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นโดยอ้างอิงจากคอลัมน์การออกเสียง จึงได้อธิบายความหมายของตัวอักษรพิเศษบางตัวไว้ด้านล่างนี้!
・วิธีการออกเสียง "ā", "ī", "ū", "ē" และ "ō"
การออกเสียงตัวอักษรพิเศษข้างต้นจะเหมือนกับตัวอักษร "a", "i", "u", "e" และ "o" ทั่วไป ข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือตัวอักษรที่มี สัญลักษณ์ "-"อยู่เหนือตัวอักษร ว่าต้องลากเสียงให้ยาวขึ้น ตัวอย่างเช่น หาก "a" ออกเสียงว่า "อะ" สั้น ๆ "ā" จะออกเสียงเป็น "อา"
สัญลักษณ์ "-" เทียบเท่ากับเสียงยาว "ー" ในอักขระตัวเดียวของญี่ปุ่น เช่น "パスポート (pasupōto)" อ่านว่า พะสุโปโตะ ที่แปลว่า พาสปอร์ต
・วิธีการออกเสียงคำว่า "ss", "tt", "kk" และ "pp"
การออกเสียงข้างต้นเรียกอีกอย่างว่า "เสียงกัก" ในภาษาญี่ปุ่น เมื่อออกเสียงตัวอักษรเหล่านี้จะถูกปิดกั้นไว้ครู่หนึ่งก่อนที่จะออกเสียง ตัวอย่างเช่น "チケット(จิเคตโตะ)" แปลว่า ตั๋ว เสียงจะหยุดชั่วคราวหลังจากพูดว่า "ケ(เคะ)" แล้วจึงพูด "ト(โตะ)" ตัวสุดท้าย
สัญลักษณ์เช่น "ss", "tt", "kk" และ "pp" เทียบเท่ากับอักขระภาษาญี่ปุ่น "っ" และ "ッ" เป็นเสียงพิเศษที่ไม่เปล่งเสียงออกมา เมื่อผสมกับตัวอักษรอื่น ๆ จะใช้แทนตัวสะกด โดยมีเสียงเดียวกันกับตัวอักษรที่ตามหลังมา ตัวอย่างเช่น "サンドイッチ(ซันโดะอิจจิ)" แปลว่า แซนวิช