ซูชิถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล และได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน ก่อนจะได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยเอโดะ ซูชิไม่เพียงแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ยังเป็นหนึ่งในอาหารสำคัญของชาวญี่ปุ่น ซึ่งแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง มักกล่าวกันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งมารยาท ดังนั้นมารยาทในการทานซูชิจึงมีไม่น้อยเลยทีเดียว ด้านล่างนี้มี 7 รายละเอียดที่ชาวต่างชาติมักสับสน รีบจดไว้เลยนะ! คราวหน้าคุณจะได้ไม่ต้องงง และสามารถทานซูชิได้อย่างสบายใจเหมือนผู้เชี่ยวชาญเลยทีเดียว!
ความรู้ทั่วไป 1: จริง ๆ แล้วควรทานซูชิด้วยมือ?
กล่าวกันว่าในอดีตสมัยเอโดะ ซูชิเป็นเหมือนอาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่เพียงแต่หยิบด้วยมือโดยตรง แต่ยังทานแบบยืนอีกด้วย ทั้งสะดวกและรวดเร็ว การใช้มือทานยังมีข้อดีอื่น ๆ อีก เช่น จุ่มซอสได้ง่ายกว่า และยังช่วยให้แน่ใจว่าหลังจากจุ่มซอสแล้ว ส่วนผสมและข้าวจะไม่แยกออกจากกันได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การใช้มือทานก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสุขอนามัยบ้าง และเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ค่อย ๆ เกิดภาพลักษณ์ว่า "ซูชิ" = "อาหารชั้นสูง" ดังนั้นผู้คนจึงเริ่มใช้ตะเกียบในการรับประทาน ดังนั้นคำตอบที่ถูกต้องคือใช้ได้ทั้งมือและตะเกียบเลย! ทุกคนจึงไม่จำเป็นต้องยึดติดมากเกินไป สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ ถ้าจะใช้มือหยิบอาหาร อย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อน!
คำศัพท์อุปกรณ์ทานซูชิ | การออกเสียง | ความหมาย |
箸 | ฮาชิ | ตะเกียบ |
箸置き | ฮาชิโอกิ | ที่พักตะเกียบ |
寿司下駄 | ซูชิเกตะ | จานไม้สำหรับเสิร์ฟซูชิ |
醤油皿 | โชยุซาระ | จานใส่ซอสโชยุ |
ความรู้ทั่วไป 2: จริง ๆ แล้วควรทานซูชิคำเดียวหมดเลยใช่ไหม?
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ในตอนแรกซูชิไม่ใช่อาหารชั้นสูง จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมารยาทในการรับประทานมากนัก โดยทั่วไปจะทานหมดในคำเดียว เชฟจะปั้นซูชิในสัดส่วนที่ดีที่สุดตามลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบแต่ละชนิด การที่ส่วนผสมและข้าวผสมน้ำส้มสายชูละลายรวมกันในปากถือเป็นความเพลิดเพลินสูงสุดของการลิ้มรสซูชิ หากแบ่งทานหลายคำจะทำลายความสมดุลนี้ เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ โดยพื้นฐานแล้วร้านจะไม่เสิร์ฟซูชิขนาดที่ไม่สามารถทานหมดในคำเดียวได้ หากยังรู้สึกว่าทานลำบาก ในร้านซูชิทั่วไปที่สั่งเป็นคำ ๆ สามารถปรึกษากับเชฟได้โดยตรง ขอให้ปั้นซูชิให้เล็กลงหรือปรับปริมาณข้าวได้ อย่างไรก็ตาม ร้านซูชิสายพานหรือร้านซูชิเชนที่เน้นความคุ้มค่า อาจจะตั้งใจเพิ่มปริมาณวัตถุดิบเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า ในกรณีนั้นไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องวิธีการทานมากนัก!
ทานซูชิคำเดียวไม่หมด? คุณสามารถพูดแบบนี้ได้!
ลูกค้า:
(ขอโทษครับ/ค่ะ ขอข้าวน้อยหน่อยได้ไหมครับ/คะ)
เชฟ:
(ได้เลย!)
ความรู้ทั่วไป 3: จริงๆ แล้วข้าวซูชิไม่ควรแตะโดนซอสโชยุใช่ไหม?
การจุ่มซอสโชยุสำหรับซูชินั้นก็มีเคล็ดลับเหมือนกันนะ! อันดับแรก ให้เทซอสโชยุลงในจานเล็ก ๆ เทแค่นิดหน่อย ถ้าไม่พอค่อยเติม เพื่อจะได้ไม่ใช่โชยุเปลืองจนเกินไป จากนั้นวิธีการจะแตกต่างกันไปตามประเภทของซูชิ เรามาดูกันทีละอย่างกันเลย!
นิกิริซูชิ (握り寿司)
พลิกซูชิควํ่าลง จับในลักษณะกลับหัวกลับหาง แล้วใช้ส่วนหน้าของซูชิจุ่มซอสโชยุ ไม่แนะนำให้ใช้ข้าวจุ่มซอสโดยตรง เพราะเมล็ดข้าวจะหล่นลงในซอสได้ง่าย และอาจจะดูดซับซอสมากเกินไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เค็มเกินไปได้
กุนคันมากิ (軍艦巻き)
โดยทั่วไป ร้านซูชิจะมีขิงดองมาให้เพื่อล้างปาก คุณสามารถใช้ประโยชน์จากมันเหมือนแปรง จุ่มซอสโชยุแล้วทาบนหน้าซูชิ แต่การใช้ขิงจุ่มซอสแล้วไม่ทานมันเลยก็เป็นการสิ้นเปลืองนะ! สำหรับคนที่ไม่ชอบรสขิง มีอีกวิธีหนึ่ง คือใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จับด้านข้างของสาหร่ายของกุนคันมากิ แล้วใช้ส่วนสาหร่ายจุ่มซอสโชยุเบาๆ พอประมาณ
ข้าวหน้าปลาดิบ
บี๊บ บี๊บ! รีบวางขวดซอสโชยุลงเดี๋ยวนี้!
ต้องระวังนะ ชาวญี่ปุ่นจะไม่ราดซอสโชยุลงบนข้าวหน้าปลาดิบโดยตรง! เมื่อส่วนผสมทั้งหมดถูกคลุมด้วยซอสปริมาณมากในคราวเดียว คุณจะไม่สามารถลิ้มรสความอร่อยและความแตกต่างของรสชาติได้! และเมื่อซอสซึมลงไปในข้าวขาวด้านล่าง ถ้าใส่มากเกินไปโดยไม่ตั้งใจจนรู้สึกเค็มเกินไป ก็ไม่สามารถแก้ไขได้! วิธีนี้อันตรายมาก ไม่แนะนำอย่างยิ่ง!
วิธีที่ถูกต้องเหมือนกับการทานซูชิ คือเทซอสโชยุลงในจานเล็กก่อน แล้วคีบอาหารทะเลจุ่มซอส จากนั้นวางกลับลงบนข้าว ค่อยๆ ปรับปริมาณซอสตามชนิดของวัตถุดิบ คุณจึงจะสามารถเพลิดเพลินกับรสชาติที่แตกต่างกันไปทีละอย่าง และสามารถทานข้าวหน้าปลาดิบทั้งชามได้อย่างอร่อยที่สุด!
คำศัพท์เกี่ยวกับซูชิ | การออกเสียง | ความหมาย |
にぎり | นิกิริ | ซูชิหน้าปลา |
軍艦 | กุนคัน | ซูชิห่อสาหร่าย |
海鮮丼 | ไคเซ็นด้ง | ข้าวหน้าอาหารทะเล |
刺身 | ซาชิมิ | ปลาดิบ |
しゃり/シャリ | ชาริ | ข้าวซูชิ |
がり/ガリ | การิ | ขิงดอง |
さび/サビ | ซาบิ | วาซาบิ |
あがり | อาการิ | ชาร้อนหลังอาหาร |
ความรู้ทั่วไป 4: อย่าคนวาซาบิเด็ดขาด!
อย่า! เด็ดขาด! อย่าใส่วาซาบิลงไปคนในซอสโชยุ!
ถ้าคุณทำแบบนี้ในร้านซูชิญี่ปุ่น ลูกค้าข้างๆ จะต้องตกใจแน่นอน และจ้องมองคุณตาโต! จริงอยู่ที่การผสมซอสโชยุกับวาซาบิไว้ล่วงหน้า แล้วแค่จิ้มนิดหน่อยตอนทานนั้นสะดวกมาก! แต่นี่ก็เป็นวิธีที่ผิด ประการแรกคือดูไม่สวยงาม ประการที่สองคือรสชาติของวาซาบิจะแรงเกินไป ทำให้ไม่สามารถลิ้มรสของวัตถุดิบได้เลย! วิธีที่ถูกต้องคือ จุ่มซอสโชยุก่อน แล้วค่อยหยิบวาซาบิปริมาณที่เหมาะสมวางบนอาหาร ก็พอแล้ว
ไม่อยากเพิ่มวาซาบิ? คุณสามารถพูดแบบนี้ได้!
ลูกค้า:
(ขอโทษครับ/ค่ะ ผม/ดิฉันทานวาซาบิไม่ได้ ขอไม่ใส่วาซาบิได้ไหมครับ/คะ?)
เชฟ:
(เข้าใจแล้ว ไม่มีปัญหา!)
ความรู้ทั่วไป 5: จริงๆ แล้วเศษซูชิควร "ทิ้งไว้ที่เดิม" ใช่ไหม?
ในร้านซูชิเชนจะมีถังขยะเล็กๆ บนโต๊ะให้ลูกค้าวางขยะต่างๆ แต่ร้านซูชิทั่วไปที่สั่งเป็นคำๆ นั้นไม่มีสิ่งนี้ สำหรับเศษอาหารที่เหลือ เช่น เปลือกกุ้งหรือหางกุ้ง จริงๆ แล้วแค่วางไว้ที่มุมจานซูชิเดิมก็พอ เมื่อทานซูชิเสร็จ ทางร้านจะเก็บไปพร้อมกับจาน ไม่จำเป็นต้องห่อด้วยกระดาษทิชชูหรือกระดาษเช็ดปากเป็นพิเศษ
ความรู้ทั่วไป 6: การสั่งซูชิจริง ๆ แล้วมีจังหวะเหมาะสม?
เมื่อมาถึงร้านซูชิที่สั่งเป็นคำๆ บรรยากาศจะสง่างามอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเห็นเชฟซูชิมืออาชีพหลังเคาน์เตอร์บาร์กำลังปั้นซูชิอย่างไม่หยุดมือ การตะโกนสั่งอาหารทันทีอาจทำลายบรรยากาศภายในร้านได้ง่าย แล้วเมื่อไหร่จึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการสั่งอาหารโดยไม่รบกวนทางร้าน? คำตอบคือ "หลังจากที่เสิร์ฟอาหาร" หลังจากที่เชฟวางซูชิลงบนโต๊ะ จะมีช่วงเวลาสั้น ๆ นั่นคือจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการสั่งอาหาร!
อยากสั่งอาหารกับเชฟ คุณสามารถพูดแบบนี้ได้!
ลูกค้า:
(ขอโทษครับ/ค่ะ ผม/ดิฉันขอสั่งซูชิปลาทูน่าส่วนแดงและส่วนท้องอย่างละ 1 คำครับ/ค่ะ ขอบคุณครับ/ค่ะ!)
เชฟ:
(มาแล้ว! ขอโทษที่ให้รอ)
ความรู้ทั่วไป 7: จริง ๆ แล้วไม่ควรฉีดน้ำหอมก่อนไปทานซูชิ?
ซูชิเป็นอาหารที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสด้านกลิ่นและรสชาติที่บริสุทธิ์เพื่อลิ้มรสกลิ่นและรสชาติอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ร้านซูชิจึงห้ามสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ฉีดน้ำหอมมากเกินไปก่อนไปร้านซูชิ เนื่องจากที่นั่งในร้านส่วนใหญ่เป็นแบบเคาน์เตอร์บาร์ ลูกค้าจะนั่งใกล้กันมาก หากมีกลิ่นหอมแรงเกินไปอาจรบกวนลูกค้าคนอื่นๆ ได้ง่าย เพื่อให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับซูชิรสเลิศในบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ มาคำนึงถึงผู้อื่นกันเถอะ
หลังจากอ่านคำแนะนำข้างต้น คุณรู้สึกเหมือนถูกตีด้วยไม้เรียวหรือไม่? พบว่าตัวเองเคยทำผิดมารยาทโดยไม่ตั้งใจหรือเปล่า? แน่นอนว่าทุกคนมักจะลดมาตรฐานลงสำหรับนักท่องเที่ยว คิดว่า "ไม่เป็นไร เพราะเป็นชาวต่างชาติ!" อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณสามารถแสดงความจริงใจในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นจะยินดีต้อนรับเราจากใจจริงมากขึ้น มื้ออาหารนี้จึงไม่ใช่แค่มื้อหนึ่งในการเดินทาง แต่เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของวัฒนธรรมต่างประเทศ เป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง นับเป็นการกระทำที่ใส่ใจและมีความหมายอย่างยิ่ง!
◆ อยากรู้เพิ่มเติมว่าภาษาญี่ปุ่นพูดอย่างไร?
คลิกที่ "ห้องเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับการท่องเที่ยวของ Japai Japan" มาเรียนรู้ไปด้วยกัน และกล้าที่จะพูดภาษาญี่ปุ่น!
คำอธิบายเล็กน้อยเกี่ยวกับอักษรโรมัน
เพื่อให้ทุกคนสามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นตามคอลัมน์การออกเสียงได้สะดวกขึ้น เราจะอธิบายความหมายของตัวอักษรพิเศษบางตัวด้านล่างนี้นะคะ!
・「ā」、「ī」、「ū」、「ē」、「ō」 อ่านอย่างไร?
การออกเสียงของตัวอักษรพิเศษเหล่านี้เหมือนกับ 「a」、「i」、「u」、「e」、「o」 ทั่วไป ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือตัวอักษรที่มีเครื่องหมาย 「-」 ด้านบนหมายความว่าต้องออกเสียงยาว ถ้า 「a」 อ่านเสียงสั้น "อะ" 「ā」 ก็จะอ่านยาวเป็น "อา~"
เครื่องหมาย 「-」 เทียบเท่ากับเสียงยาว 「ー」 ในคำภาษาญี่ปุ่น เช่น 「パスポート(pasupōto)」
・「ss」、「tt」、「kk」、「pp」 อ่านอย่างไร?
การออกเสียงเหล่านี้เรียกว่า "เสียงกัก" ในภาษาญี่ปุ่น เวลาออกเสียงตัวอักษรเหล่านี้จะมีการหยุดชั่วขณะก่อนออกเสียง เช่น 「チケット(chiketto)」 จะหยุดหลังจากออกเสียง 「ケ」 แล้วค่อยออกเสียง 「ト」 ตอนท้าย
สัญลักษณ์ 「ss」、「tt」、「kk」、「pp」 เทียบเท่ากับ 「っ」、「ッ」 ในคำภาษาญี่ปุ่น
เรียบเรียงและเขียน: Weki 15.8.2017
สอนภาษาญี่ปุ่น: aoi
อัปเดต: Zita 24.6.2019