ถ้าเดินเที่ยวอย่างเหน็ดเหนื่อยในโตเกียว มาทั้งวัน เราขอให้คุณลองมาผ่อนคลายกายใจที่ "โรงอาบน้ำเซนโต" อันสุดแสนจะเป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นกันเถอะ! วันนี้ "Japai Japan" ได้คัดสรร ร้านเซนโตยอดนิยม 6 แห่งในโตเกียว ที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็หลงรัก ตั้งแต่ย่านโอชิอาเกะ และ อุเอโนะ ของโตเกียว ไปจนถึงย่านชิบุย่าอันทันสมัย และย่านจูโจและโคเอ็นจิที่เป็นเอกลักษณ์ เซนโตในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงโรงอาบน้ำ แต่ยังมีบริการร้านน้ำชาสไตล์โชวะและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอีกด้วย เลือกที่ๆ ชอบ ไปแช่น้ำร้อนแบบสบายๆ และรู้จักญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งขึ้นกันเถอะ!
เซนโตและออนเซ็นต่างกันอย่างไร? 5 "เคล็ดลับเซนโต" ที่ควรรู้
1. อะไรคือความแตกต่างระหว่างออนเซ็น, เซนโตและซุปเปอร์เซนโต?
ตามคําจํากัดความของกฎหมายออนเซ็นประเทศญี่ปุ่น "ออนเซ็น" คือน้ำพุร้อนหรือก๊าซที่เกิดขึ้นจากภูมิประเทศตามธรรมชาติ ซึ่งมีต้นทางแหล่งที่มาเป็นน้ำร้อนธรรมชาติ และนำมาผ่านกระบวนการเพิ่มเติมอื่นๆ ออนเซ็นเป็นทรัพยากรธรรมชาติ และอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ "กฎหมายออนเซ็น" แห่งกระทรวงสิ่งแวดล้อม ส่วน "เซนโต" คือโรงอาบน้ำสาธารณะที่มีต้นทางแหล่งที่มาเป็นน้ำประปาผสมกับผงน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แม้ว่าเซนโตจะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมายพิเศษใด แต่สภาพแวดล้อมภายในโรงอาบน้ำมีความสำคัญทางด้านสุขอนามัย ดังนั้นโรงอาบน้ำสาธารณะจึงอยู่ภายใต้การควบคุมของ "กฎหมายโรงอาบน้ำสาธารณะ" แห่งกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ส่วน "ซุปเปอร์เซนโต" คือโรงอาบน้ำสาธารณะที่เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก อย่าง โซนพักผ่อน, เก้าอี้นวด, ร้านอาหารและโซนอ่านการ์ตูนเข้าไป จึงมีความบันเทิงมากกว่า
2. ทําไมในเซนโตถึงมีภาพภูเขาไฟฟูจิเป็นพื้นหลังเสมอ?
เชื่อว่าใครหลายคนที่เคยไปเซนโตของประเทศญี่ปุ่นมักจะมีคําถามว่า ทําไมภาพพื้นหลังของโรงอาบน้ำต้องเป็นภูเขาไฟฟูจิอยู่เสมอเลย? แท้จริงแล้วภาพพื้นหลังภูเขาไฟฟูจิปรากฏขึ้นครั้งแรกที่ "เซนโต KIKAI" " (キカイ湯) ที่ตั้งอยู่ในชุมชนซารุกาคุ แขวงชิโยดะ จังหวัดโตเกียวในช่วงยุคไทโช ซึ่ง ณ ตอนนั้นทางร้านได้จ้างจิตรกร คาวาโกเอะ ฮิโรชิโระ ผู้ซึ่งเกิดในจังหวัดชิซึโอกะมาตกแต่งร้าน จิตรกรท่านนี้จึงได้วาดภาพภูเขาไฟฟูจิที่เป็นตัวแทนจากบ้านเกิดของตัวเองและเป็นเหมือนศูนย์รวมศรัทธาและความเชื่อมั่นของชาวญี่ปุ่นลงบนพื้นหลัง หลังจากนั้นภาพวาดดังกล่าวก็ได้โด่งดัง และเป็นตัวจุดกระแสการตกแต่งพื้นหลังโรงอาบน้ำเป็นภูเขาไฟฟูจิ! ปัจจุบันแม้ว่า "เซนโต KIKAI" จะปิดให้บริการอย่างถาวร แต่ก็มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเป็นต้นแบบการตกแต่งโรงอาบน้ำด้วยภูเขาไฟฟูจิ
3. ทําไมต้องดื่มนมวัวหลังจากแช่เซนโต?
ทำไมต้องอยากดื่มนมเย็นๆ สักแก้วหลังจากแช่เซนโตกันนะ? จริงๆ แล้ววัฒนธรรมนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งในช่วงต้นยุคโชวะที่ตู้เย็นเริ่มแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกครัวเรือนสามารถครอบครองได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการตั้งตู้เย็นในบริเวณเซนโต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน อีกทั้งเริ่มมีการจำหน่ายนมวัวที่หาดื่มได้ยากหากไม่มีตู้เย็น ในตอนนั้นการดื่มนมวัวหลังแช่เซนโตจึงให้ความรู้สึกไฮโซไม่น้อย แม้ว่าปัจจุบันนมวัวจะไม่ใช่เครื่องดื่มหรูหราอีกต่อไป แต่การดื่มนมหลังจากแช่เซนโตก็เป็นการเสริมโปรตีนและชดเชยน้ำที่ร่างกายเสียไปได้อย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมนี้จึงดำเนินสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้!
4. ทําไมถึงมีร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ข้างๆ เซนโต?
อัตาการใช้บริการของเซนโตนั้นถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นยุคโชวะ ซึ่งเป็นช่วงที่แต่ละครัวเรือนยังไม่มีห้องอาบน้ำ แต่หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ห้องอาบน้ำภายในครัวเรือนก็แพร่หลายตามไปด้วย อัตราการใช้บริการของเซนโตจึงลดลงอย่างมาก แม้ว่าจะมีการกระตุ้นการใช้บริการด้วยการเพิ่มเก้าอี้นวด, ซาวน่าและอื่นๆ แต่ก็ไม่เป็นผลนัก บริการร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ โรงอาบน้ำ Kaga ในย่านทางเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งส่งเสริมการใช้เวลาว่างระหว่างรอซักผ้าไปอาบน้ำที่เซนโต อาบน้ำเสร็จ ผ้าก็ซักเสร็จพอดี เป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และยังเพิ่มรายได้แก่ทางร้านอีกด้วย ดังนั้นเซนโตส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน จึงยังคงให้บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอยู่เสมอ
5. เซนโตก็มีการแบ่งประเภทเหมือนกันนะ! ความแตกต่างระหว่าง "เซนโตแบบคันโต" และ "เซนโตแบบคันไซ"?
รู้หรือไหม? เซนโตก็ถูกแบ่งออกเป็นเซนโตแบบคันโตและคันไซ! ว่ากันว่าในสมัยเอโดะแถบคันโตส่วนใหญ่เป็นที่อาศัยของผู้ใช้แรงงานจํานวนมาก ซึ่งผ่านเหงื่อผ่านดินมาทั้งวัน เซนโตประเภทแบบคันโตจึงมีลักษณะพิเศษคือมีห้องอาบน้ำแยกให้ล้างตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าจนสะอาดเอี่ยมอ่องก่อนจะลงแช่ในบ่อน้ำร้อน แต่สำหรับแถบคันไซและโอซาก้านั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ ซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานค่อนข้างสกปรกน้อยกว่า จุดประสงค์การไปเซนโตจึงเป็นแค่การแช่น้ำให้ร่างกายอบอุ่น ดังนั้นชาวคันไซส่วนใหญ่จะล้างตัวด้วยน้ำเพียงเล็กน้อย จากนั้นจึงลงแช่น้ำร้อนทันที นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกันอีกดังนี้
เซนโตแบบคันโต | เซนโตแบบคันไซ |
บ่อแช่น้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดและด้านในที่สุดของโรงอาบน้ำ | บ่อแช่น้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางโรงอาบน้ำ |
ผนังโรงอาบน้ำส่วนใหญ่เป็นภาพวาด | ผนังโรงอาบน้ำส่วนใหญ่เป็นกระเบื้อง |
ม่านญี่ปุ่นหน้าทางเข้าสั้น | ม่านญี่ปุ่นหน้าทางเข้ายาว |
สถาปัตยกรรมสไตล์ "Karahafu" ที่มีชายคาโค้งงอ | สถาปัตยกรรมมีความหลากหลาย |
น้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 42 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง | น้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำ |
บ่อแช่น้ำขนาดใหญ่กว่า | บ่อแช่น้ำขนาดเล็กกว่า |
☞ เซนโตแบบคันไซเพิ่มเติม
・สัมผัสชีวิตของชาวเกียวโต ผ่าน 5 "เซนโต" ที่คุณห้ามพลาด!
6 เซนโตยอดนิยมในโตเกียวที่โปรดสำหรับคนท้องถิ่น
1. Oshiage's Onsen "ไดโคคุยุ"
"ไดโคคุยุ" เป็นเซนโตที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สถาปัตยกรรมภายนอกที่คงสไตล์ดั้งเดิมญี่ปุ่น แต่อยู่ห่างจาก Skytree เพียง 10 นาที จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างความคลาสสิกและความโมเดิร์น นอกจากโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ในร่มแล้ว ยังมีสระน้ำพิเศษอย่าง สระน้ำกลางแจ้งและสระน้ำกรดคาร์บอนิกความเข้มข้นสูง ซึ่งทางร้านจะให้บริการแบบสลับเพศตามวันคู่และคี่ เพื่อให้ทุกคนสามารถสัมผัสกับประสบการณ์ที่แตกต่างกันของสระน้ำแต่ละประเภท อีกทั้งที่นี่ยังเป็นหนึ่งในโรงอาบน้ำที่ "เป็นมิตรกับรอยสัก" ไม่กี่แห่งในประเทศญี่ปุ่น และยังเป็นเซนโตเจ้าแรกที่เปิดให้บริการข้ามคืน ชนิดของ "น้ำร้อนพิเศษ" แตกต่างกันทุกวัน โดยเว็บไซต์ทางการจะอัปเดตรายละเอียดชนิดของน้ำร้อนทุกเดือน เช่น น้ำร้อนกลิ่นส้มโอ, แอปเปิ้ล, เครื่องดื่มโซดา, บลูเบอร์รี่ และอีกมากมาย ก่อนออกเดินทางสามารถตรวจสอบรายละเอียดทาง เว็บไซต์ทางการ ของร้านได้
Oshiage's Onsen "ไดโคคุยุ"
・ที่อยู่: 3-12-14 Yokokawa, Sumida-ku, Tokyo
・เวลาให้บริการ: วันธรรมดา (15:00-10:00 ของวันถัดไป), วันเสาร์ (14:00-10:00 ของวันถัดไป), วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (13:00-10:00 ของวันถัดไป)
・การเดินทาง: เดิน 6 นาทีจากสถานี "Oshiage" หรือ เดิน 12 นาทีจากสถานี "Kinshicho"
・เว็บไซต์ทางการ
2. โคกาเนะยุ Kogane-yu
"โคกาเนะยุ" เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1932 และเป็นสถานที่ชุมนุมของผู้คนในท้องที่มาเป็นเวลาเกือบร้อยปีที่ผ่าน ใช้เวลาเดินเพียง 6 นาทีจาก "ไดโคคุยุ" ทั้งสองเปรียบเสมือนเซนโตพี่น้องกัน หลังจากการปรับปรุงใหม่ในปี 2020 มีเพียงโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ที่ยังคงบรรยากาศคลาสสิกของยุคโชวะ ส่วนที่เหลืออย่างห้องซาวน่า, เคาน์เตอร์และบาร์เครื่องดื่มต่างปรับเปลี่ยนเป็นสไตล์โมเดิร์น ภายในเซนโตมีสระน้ำขนาดใหญ่, สระน้ำสมุนไพร, สระน้ำกรดคาร์บอนิกความเข้มข้นสูง และสระน้ำกลางแจ้ง มีเคาน์เตอร์บาร์และ ดนตรีจาก DJ ให้คุณสั่งเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วหลังแช่น้ำร้อน พร้อมดนตรีประกอบภายในร้าน รับรองว่าที่นี่ทุกคนจะได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจเลยทีเดียว
Koganeyu
・ที่อยู่:4-14-6 Taihei, Sumida-ku, Tokyo
・เวลาให้บริการ: วันธรรมดา, วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (6:00-9:00 และ 11:00-24:30) วันเสาร์ (6:00-9:00 และ 15:00-24:30) หยุดวันจันทร์สัปดาห์ที่สองและสี่ของทุกเดือน
・การเดินทาง: เดินประมาณ 6 นาทีจากสถานี "Kinshicho"
・เว็บไซต์ทางการ
3. โคสึกิ ยุ Kosugi-yu
"โคสึกิ ยุ" เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1933 โดยตัวอาคารยังคงรักษาสไตล์ "Karahafu" ที่เป็นชายคาทรงโค้งงอซึ่งเป็นสไตล์ของสถาปัตยกรรมเซนโตที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแถบคันโต ณ ตอนนั้น เพดานของพื้นที่แต่งตัวนั้นเชื่อมต่อกันระหว่างชายและหญิง และบนผนังของโรงอาบน้ำขนาดใหญ่ก็มีภาพวาดของภูเขาไฟฟูจิเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีห้องพักผ่อนที่มีหนังสือการ์ตูนและนิตยสารหลากหลายประเภท ให้คุณสามารถใช้เวลาผ่อนคลายกับการอ่านหนังสือหลังแช่น้ำร้อนให้สบายตัวได้ และข้างๆ "โคสึกิยุ" ยังคงมีร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญและโรงอาหารสาธารณะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนเมืองผู้สันโดษได้มารวมตัวกัน
Kosugi-yu
・ที่อยู่: 3-32-17 Koenjikita, Suginami-ku
・เวลาให้บริการ: วันธรรมดา (15:30-25:30), วันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (8:00-25:30), หยุดทุกวันพฤหัสบดี
・การเดินทาง: เดินประมาณ 5 นาทีจากทางออกทิศเหนือสถานี "Koenji"
จากทางออกทิศเหนือ Innocence Shopping Street ・เว็บไซต์ทางการ
4. โคโตบุกิยุ Kotobuki-yu
"โคโตบุกิยุ" คือเซนโตที่ถูกยกระดับไปอีกขั้น! ด้วยการเปลี่ยนจิตรกรรมฝาผนังนั้นให้เป็นพื้นที่โฆษณาของบริษัทต่างๆ มากมาย เช่น การร่วมมือโปรโมตแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้ามือสองอย่าง "Mercari" ด้วยการผสมสีน้ำร้อนในอ่างให้กลายเป็นสีเดียวกันกับโลโก้ของแพลตฟอร์ม และยังมีโปรเจกต์แปลกใหม่เยอะแยะมากมายอยู่ตลอดเวลา
โคโตบุกิยุ
・ที่อยู่: 5-4-17 Higashi-Ueno, Taito-ku, Tokyo
・เวลาให้การ : 11:00-25:30 หยุดวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือนและวันที่1-2 เดือน มกราคม
・การเดินทาง: เดินประมาณ 7 นาทีจากสถานี "Ueno"
・เว็บไซต์ทางการ
5. ไคเรียว ยุ Kairyou-yu
ใครจะไปคิดว่า"ไคเรียว ยุ" ที่ภายนอกดูแสนจะมินิมอล และตั้งอยู่ใจกลางย่าน เอบิสึ และ ชิบุย่า จะเป็นเซนโตอายุกว่าศตวรรษที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1915! แม้ว่า "ไคเรียวยุ" จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ก็มีการพัฒนาตามกาลเวลา และได้ปรับปรุงตัวเองเป็น จุดพักเช็กอินเติมพลังระหว่างเดินทาง แสงไฟตั้งแต่โรงอาบน้ำไปยังพื้นที่ภายใน ล้วนให้ความรู้สึกถึงสไตล์มินิมอลที่หรูหรา ทางร้านมีให้บริการสระน้ำธรรมดา, สระน้ำกรดคาร์บอนิกและห้องซาวน่า อีกทั้งยังมีการจัด "วันแช่น้ำผู้สูงอายุ" และ "วันแช่น้ำครอบครัว" ที่ให้ชาวชิบุย่าใช้บริการฟรี! ครั้งหน้าถ้าได้ไปย่านชิบุย่า นอกจากการช้อปปิงแล้ว ยังสามารถไปที่เซนโต เพื่อสัมผัสกับชีวิตประจำวันของชาวโตเกียวได้อีกด้วย!
Kairyou-yu
・ที่อยู่: 2-19-9 Higashi, Shibuya-ku, Tokyo
・เวลาให้การ : 12:00-23:30 หยุดทุกวันเสาร์
・การเดินทาง: เดินประมาณ 10 นาทีจากสถานี "Shibuya"
・เว็บไซต์ทางการ
6. จูโจะยุ Jujo-yu
นอกจาก "โคกาเนะยุ" และ "โคสึเกะยุ" ที่เป็นสถานที่ชุมนุมของชุมชนแล้ว ทางร้าน "จูโจะยุ" ก็มีความพยายามที่จะผสมผสานร้านเซนโตกับร้านชาเข้าด้วยกัน จึงได้สร้างร้านชา "คิสสะ ชินไค" สไตล์ยุคโชวะข้างโรงอาบน้ำขึ้น การตกแต่งภายในรวมไปถึงเมนูอาหารต่างยึดธีมมหาสมุทร มีเมนูอย่าง "เยลลี่มหาสมุทร" และ "โซดาดอกไฮเดรนเยีย" ที่สวยงามน่าถ่ายรูปทำคอนเทนต์! อีกทั้งยังมีนมกาแฟที่มีเฉพาะที่ร้าน "จูโจะยุ" ที่ลูกค้าสามารถเทนมตามความชอบส่วนตัวลงในแก้วที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งรสกาแฟ เพื่อสร้างสรรค์เครื่องดื่มสุดพิเศษและมีเอกลักษณ์ของตัวเองได้ นับว่าเป็นการยกระดับวัฒนธรรมการดื่มนมหลังแช่น้ำไปอีกขั้นเลยก็ว่าได้!
จูโจะยุ
・ที่อยู่: 1-14-2 Jujo Nakahara, Kita-ku, Tokyo
・เวลาให้บริการ: ร้าน Kissa Shinkai (15:00-21:00), Jujo-yu (15:00-23:00) หยุดทุกวันศุกร์
・การเดินทาง: เดินประมาณ 5 นาทีจากสถานี "Jujo"
・เว็บไซต์ทางการ
เซนโตในประเทศญี่ปุ่นเป็นเสมือนสถานที่พักหายใจจากความเหนื่อยล้าของการทำงานฤดูอากาศหนาว ครั้งหน้า ถ้าคุณกำลังหาที่พักผ่อนที่จะทำให้คุณได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ลองไปเซนโตยอดนิยมในโตเกียวที่ทาง "JapaiJapan" แนะนำนี้น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่เพอร์เฟคไม่น้อยทีเดียว!
☞ อ่านเพิ่มเติม
・ จิบกาแฟ ชิมของหวานแสนแปลกใหม่ ใน 5 ร้านกาแฟที่ปรับปรุงจากโรงอาบน้ำเซนโตกันเถอะ!
ผู้เขียนและเรียบเรียง: AMO 2024.2
บรรณาธิการ: Yusho
แหล่งที่มาข้อมูล: Nihon keizai shinbun Nihon keizai shinbun