คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการอาบน้ำอันแสนเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือการแช่น้ำพุร้อนและการอาบน้ำที่เซนโต(โรงอาบน้ำ) แต่ถึงจะเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ แต่ปัจจุบัน ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป โรงอาบน้ำเซนโตก็มีจำนวนลดน้อยลง และเซนโตในโตเกียวจำนวนไม่น้อยก็ถูกเปลี่ยนเป็น Art gallery หรือร้านกาแฟที่ถูกปรับปรุงพัฒนาขึ้นใหม่ โดยยังคงการตกแต่งและการจัดวางผังแบบเดิมไว้ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้สัมผัสความงามของเซนโตในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม!
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ "เซนโต(錢湯)" ใน 1 นาทีกัน
ทำไม "เซนโต" ถึงถูกเรียกว่าเซนโต?
คำว่าเซนโตนั้นหมายถึง "การจ่ายเงินเพื่ออาบน้ำร้อน" ในสมัยโบราณ วัดจะมีโรงอาบน้ำที่สะอาด เรียกกันว่า "บ่อน้ำพุร้อนใหญ่" สำหรับประชาชนทั่วไป และยังถูกใช้สำหรับกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังนั้นคนทั่วไปจึงเรียกมันว่า "การอาบน้ำบุญ" ในปี 1951 ในสมัยเทนโช ชายที่ชื่ออิเสะ โยอิจิ เริ่มเปิดโรงอาบน้ำเซ็นโตในเขตเอโดะ ในเวลานั้นใครๆ ก็สามารถอาบน้ำได้โดยใช้เงินหนึ่งเซ็นต์ (เทียบเท่ากับ 50 เยนในปัจจุบัน) ดังนั้นเซนโตจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่คนทั่วไป ในสมัยบุนกะ (ค.ศ. 1804-1818) จำนวนเซนโตในเอโดะมีมากถึง 600 แห่งทีเดียว
จากบริการสาวอาบน้ำไปจนถึงพื้นที่สาธารณะ
นอกเหนือจากเซอร์วิสง่ายๆ ในการอาบน้ำแล้ว เซนโตบางแห่งในสมัยเอโดะตอนต้นยังให้บริการ "ยูนา(湯女)" อีกด้วย ยูนาหมายถึงคนที่จะช่วยขัดหลังและสระผมให้กับเหล่าคนที่มาเซนโต แต่จริงๆ แล้วถือว่าเป็นบริการทางเพศ ต่อมารัฐบาลสั่งห้ามเนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ แต่กลับมีการหันมาใช้พนักงานชายที่เรียกว่า "ซันสุเกะ(三助)" มาช่วยขัดหลังและสระผมให้ลูกค้า นอกจากนี้ที่เซนโตยังวางของเล่น และของกินไว้บริการในพื้นที่พักผ่อน เช่น หมากรุก ขนม ชา อีกด้วย ดังนั้นเซนโตจึงกลายเป็นสถานที่สาธารณะที่เอาไว้พบปะกัน ผู้คนจำนวนมากจะมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยสัพเพเหระ ถือว่าเป็นคอมมูนิตี้ในยุคสมัยนั้นเลยก็ว่าได้
“สถาบันด้านสุขภาพ” ที่ขาดไม่ได้
ในสมัยเอโดะของญี่ปุ่น มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเจ้าของที่ดินเท่านั้นที่มีห้องอาบน้ำส่วนตัว ประชาชนทั่วไปทุกคนต้องอาบน้ำกันที่เซนโต ดังนั้นเซนโตจึงถือได้ว่าเป็นสถาบันด้านสุขภาพประเภทหนึ่งในขณะนั้น เซนโตเติบโตมาถึงจุดสูงสุดในปีโชวะ 43 (ค.ส. 1968) โดยมีจำนวนมากกว่า 18,000 แห่งในญี่ปุ่น หากแต่พอเวลาผ่านไป การสร้างห้องอาบน้ำในบ้านก็รับความนิยมมากขึ้นและเทคโนโลยีอุปกรณ์อ่างอาบน้ำก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนเซนโตนั้นลดลงอย่างมาก และในปี 2018 ก็เหลือเพียงประมาณ 4,000 แห่งเท่านั้น ถึงอย่างนั้นก็ตาม สถานะของเซนโตก็ไม่มีอะไรสามารถทดแทนได้ เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินจากโรคโควิด19 ครั้งแรกในปี 2020 ร้านค้าส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งให้ปิดชั่วคราว แต่เซนโตเป็นร้านเดียวที่สามารถดำเนินการต่อไปได้บนพื้นฐานของ "การรักษาสุขภาพของประชาชน"
ทำไมถึงมี "จิตรกรรมฝาผนังภูเขาไฟฟูจิ" ในโรงอาบน้ำเซนโต?
ความประทับใจของหลายๆ คนต่อ “เซนโต” คือภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปภูเขาไฟฟูจิอันยิ่งใหญ่! ว่ากันว่าในปีแรกของยุคไทโช (ค.ส. 1912) มีโรงอาบน้ำเซนโตในโตเกียวที่ชื่อว่า "คิคาอิยู" ที่ต้องการให้เด็กๆ มาอาบน้ำอย่างมีความสุขที่นี่ เจ้าของร้านจึงเกิดแนวการวาดภาพน่ารักๆ ที่ผนัง และได้จ้างจิตรกรจากจังหวัดชิซูโอกะมาวาด และจิตรกรท่านนั้นก็ได้วาดภาพภูเขาไฟฟูจิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของบ้านเกิดของเขา หลังจากนั้นภาพนั้นก็ได้มีชื่อเสียงอย่างไม่คาดคิด ทำให้เซนโตที่อื่นๆ รีบลอกเลียนแบบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "จิตรกรรมฝาผนังภูเขาไฟฟูจิ" จึงได้กลายมาเป็นเครื่องประดับยอดนิยมของเซนโต อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จิตรกรรมฝาผนังรูปสไตล์เมืองเก่าของญี่ปุ่นและแม้แต่ปราสาทสไตล์ยุโรปก็สามารถพบเห็นได้ในเซนโตบางแห่ง!
มาดูเซนโตที่ถูกแปลงโฉม 5 แห่งในโตเกียวกัน
อาคารเก่าหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยแรกๆ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างมาก หลังจากที่เซนโตปิดตัวลง ก็ค่อยๆ กลายเป็นสถานที่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ อาคารเก่าๆ ก็ได้รับการฟื้นฟูและแปรสภาพเป็นร้านกาแฟหรือ Art Gallery ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและน่าไปเยี่ยมชมอย่างมาก!
rébon Kaisaiyu:เอร็ดอร่อยกับกาแฟและไอศกรีมในบ้านอายุนับร้อยปี
ร้าน「rébon Kaisaiyu」ได้รับการสร้างขึ้นใหม่จาก เซนโต "Kaisaiyu" ที่เปิดในปี 1928 โดยมีการเพิ่ม "Rebon" หน้าชื่อเดิม "Kaisaiyu" และพื้นที่ภายในโรงอาบน้ำก็ได้รับการออกแบบใหม่ให้เป็นสถานที่อเนกประสงค์ที่ผสมผสานร้านกาแฟ สถาปัตยกรรม หอศิลป์ ไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ และที่ประตูด้านนอกและโถงทางเข้ายังคงมีสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงอาบน้ำในยุคแรกๆ ไว้ รวมถึงตู้เก็บรองเท้า และป้ายบนประตูบานเลื่อนที่เขียนด้วยลายมือสำหรับทางเข้าโรงอาบน้ำสำหรับผู้หญิง เรียกได้ว่ามีการเก็บร่องรอยต่างๆ ในประวัติศาสตร์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน
เมื่อเปิดประตูเข้าไปในคาเฟ่ก็จะเห็นเคาน์เตอร์บาร์และที่นั่งดีไซน์เรียบง่ายดูดี แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่าตาชั่ง ตะกร้าสำหรับใส่กระเป๋า และรายละเอียดอื่นๆ ที่มาจากเซนโตดั้งเดิม พื้นที่อาบน้ำเดิมถูกวางแผนให้เป็นพื้นที่นิทรรศการสำหรับกิจกรรมและห้องสมุดขนาดย่อม ภาพจิตรกรรมฝาผนังของภูเขาไฟฟูจิในยุคแรกๆ ก็ยังได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ แม้ว่าจะมีการผุพังไปบ้าง แต่ก็เป็นสถานที่สไตล์ย้อนยุคที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่ทำให้หวนคิดถึงอดีต
ในส่วนของร้านกาแฟ ที่นี่มีเมล็ดกาแฟคั่วของตัวเอง บาริสต้ามืออาชีพที่เคยศึกษาในร้านค้าชื่อดังมีความมือโปรเกี่ยวกับการชงกาแฟมาก และกาแฟแต่ละประเภทยังเสิร์ฟพร้อมกับไอศกรีมของตัวเองอีกด้วย คุณสามารถจิบกาแฟพร้อมกับกินไอศกรีม หรือจะเทกาแฟลงบนไอศกรีมแล้วรับประทานก็ได้ ผลไม้ที่ใช้ในไอศกรีมส่งตรงจากฟาร์มสดใหม่และรับประกันคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีเมนูข้าวอีกด้วย คุณจึงสามารถมาทานอาหารให้อิ่มท้องหรือทานขนมจิบกาแฟยามบ่ายก็ได้
rébon Kaisaiyu
・ที่ตั้ง:2-17-11 Shitaya, Taito-ku, Tokyo
・เวลาทำการ:วันธรรมดา 12:00 น.~19:00 น. / วันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์: 10:00 น.~19:00 น.
・Official website
Kissashinkai:เยลลี่ทะเลน้ำลึกอันแสนโรแมนติก
いい天気ですね~?
— 十條湯 (@jujoyu_1010) February 23, 2022
お風呂とサウナ入ってそのまま喫茶深海でまったり…?
いい日にしてね~?⚪︎◎#サウナ #喫茶店 pic.twitter.com/tWMWMY5h51
「Kissashinkai」คือร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในเซนโต "Jujoyu" ซึ่งคุณสามารถเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมเซนโตและโรงน้ำชาของญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างแท้จริง Kissashinkai ถูกสร้างขึ้นในปี 2021 เนื่องจากเจ้าของเซนโต Shitiaoyu เล็งเห็นถึงความยากลำบากของกิจการเซนโตในอนาคต จึงมีการระดมทุนเพื่อปรับปรุงสถานที่ เพื่อหวังว่าจะสามารถส่งต่อวัฒนธรรมเซนโตให้กับคนรุ่นใหม่ได้
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในเซนโตนี้ไม่ใช่รูปภูเขาไฟฟูจิ แต่เป็นภาพโมเสกของปลาที่กำลังว่ายน้ำอย่างสบายๆ อยู่ในทะเล ดูน่ารักราวหนังสือภาพสำหรับเด็ก เก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์เกือบทั้งหมดที่ใช้ในร้านก็มาจากร้านน้ำชาและเซนโตในยุคก่อนๆ ทำให้รู้สึกได้ถึงสไตล์ย้อนยุคแบบเต็มรูปแบบ
เมนูอาหารในร้านกาแฟก็เต็มไปด้วยเมนูสไตล์โชวะ! มีทั้งไอศกรีมโซดา พุดดิ้ง พิซซ่า โทสต์ เป็นต้น โดยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ "เยลลี่ทะเลลึก" ซึ่งมีสีฟ้าเหมือนทะเลน้ำลึกอันแสนสะดุดตา นอกจากให้บริการการอาบน้ำแล้ว เซนโตที่นี่ยังมีห้องซาวน่าที่สามารถใช้ได้ในราคาเพียง 200 เยน มีบริการน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินต์ทุกวันจันทร์ ซึ่งจะเพิ่มความเพลิดเพลินและผ่อนคลายอย่างดีในการอาบน้ำ
Kissashinkai
・ที่ตั้ง:1-14-2, Jujo Nakahara, Kita-ku, Tokyo
・เวลาทำการของ Jujoyu:15:00~23:00 / วันอาทิตย์ 8:00~12:00 / ปิดวันศุกร์
・เวลาทำการของ Kissashinkai:15:00~21:00 / ปิดวันจันทร์และวันศุกร์
・Official Instagram
SCAI The Bathhouse:พื้นที่จัดแสดงนิทรรศศิลปะแนวหน้า
SCAI The Bathhouse เป็นแกลเลอรี่ศิลปะที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จากเซนโต "Kashiwayu" ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี แม้ว่าจะเป็นอาคารเก่าแก่ แต่ผลงานที่จัดแสดงเกือบทั้งหมดก็เป็นธีมร่วมสมัยและล้ำยุค ที่ดึงดูดผู้คนที่สนใจในศิลปะร่วมสมัยและได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างมาก ศิลปินชั้นแนวหน้า เช่น Endo Riko, Mori Mariko, Nawa Akana, Lee Ufan และคนอื่นๆ ก็เคยมาจัดนิทรรศการที่นี่
ทันทีที่คุณก้าวเข้าไปในทางเข้าแกลเลอรี คุณจะเห็นว่าตู้สำหรับเก็บรองเท้าในเซนโตยุคแรกนั้นได้รับการอนุรักษ์และใช้เป็นของตกแต่งด้านใน หากแต่พื้นที่ภายในไม่เหมือนกับเมื่อก่อนอีกต่อไป พื้นที่ส่วนมากได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะ เพดานสูงสีขาวบริสุทธิ์ พร้อมสไตล์โดยรวมที่เรียบง่ายและหรูหรา ไม่ว่าผลงานที่จัดแสดงในแกลเลอรีจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด การมีอยู่ของบ้านดั้งเดิมเก่าหลังนี้ซึ่งมีจิตวิญญาณร่วมสมัยก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะงานหนึ่งในเมืองเลยก็ว่าได้
SCAI The Bathhouse
・ที่ตั้ง:2-10-6 Ueno Sakuragi, Taito-ku, Tokyo
・เวลาทำการ:12:00~18:00
・Official website
Cafe and more MIYANO-YU:คาเฟ่ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของเซนโตโบราณไว้
เมื่อคุณเดินผ่านร้านกาแฟที่ดูมีสไตล์แห่งนี้ คุณอาจจะไม่รู้เลยว่าที่นี่เคยเป็นเซนโตเก่า ถ้าไม่เห็นปล่องหม้อต้มน้ำที่อยู่ด้านนอก ต้นกำเนิดของ "Cafe and more MIYANO-YU" ก็คือเซนโตที่ชื่อ "Miyanoyu" ที่มีอายุกว่า 70 ปี ชื่อร้าน "MIYANO-YU" ก็คือการออกเสียงของชื่อเดิม "Miyanoyu" นั่นเอง
บริเวณทางเข้าร้านยังมีตู้เก็บรองเท้าอยู่ ชั้นใต้ดินเป็นห้องต้มน้ำสำหรับเซนโต และลูกค้าก็สามารถเลือกดื่มกาแฟที่นั่นได้เช่นกัน ทางร้านให้ความสำคัญกับเมล็ดกาแฟเป็นอย่างมาก โดยคัดสรรเมล็ดกาแฟชั้นนำอย่างพิถีพิถันจาก 5% แรกของตลาดกาแฟเลยทีเดียว
Cafe and more MIYANO-YU
・ที่ตั้ง:SENTO Building 1C, 2-19-8 Nezu, Bunkyo-ku, Tokyo
・เวลาทำการ:วันธรรมดา 11:30 น.~17:30 น. / วันเสาร์ 10:00 น.~19:30 น. / วันอาทิตย์ 10:00 น.~19:00 น.
・Official website
MIDORI YU:เซนโตร่วมสมัยที่ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ
"MIDORI YU" ตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนช้อปปิ้ง Jiyugaoka เป็นโรงอาบน้ำเซนโตเก่าแก่ที่เปิดมานานกว่า 65 ปี และยังสามารถพบเห็นคนในพื้นที่จำนวนมากมาอาบน้ำกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในช่วงวันหยุดได้ ผู้คนจำนวนมากที่วิ่งออกกำลังกายเสร็จก็มาใช้บริการที่นี่เป็นประจำ นับเป็นเซนโตเก่าแก่ที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
และเจ้าของร้านยังได้เปิดแกลเลอรี「gallery yururi」ติดกับเซนโตด้วยแนวคิด "ศิลปะที่หยั่งรากลึกในชีวิต" โดยมักจะจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ นิทรรศการภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเซนโต และชั้นบนของแกลเลอรียังเป็นห้องชงชา「yururi」ที่ใช้จัดพิธีชงชา เจ้าของร้านเชื่อว่า "อ่างอาบน้ำ" ของเซนโตและ "ห้องชงชา" ของพิธีชงชาเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกถึงพิธีกรรม โดยเขาหวังว่า เมื่อแขกมาที่ร้านแล้ว จะไม่เพียงได้รับการผ่อนคลายทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถฟื้นฟูจิตใจด้วยพิธีชงชาได้อีกด้วย
MIDORI YU
・ที่ตั้ง:2-7-14 Midorigaoka, Meguro-ku
・เวลาทำการ:15:00~23:00
・Official website
"เซนโต" ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศทางประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่รวบรวมความทรงจำของผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในญี่ปุ่นอีกด้วย คาเฟ่และพื้นที่แสดงศิลปะหลายแห่งที่เปิดตัวในครั้งนี้ได้รักษาประวัติศาสตร์ของอาคารดั้งเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ เป็นการผสมผสานประเพณีที่ถูกตีความใหม่ และส่งต่อจิตวิญญาณของเซนโตไปยังคนรุ่นต่อไปได้อย่างดีเยี่ยม