สำหรับหลายคนที่ไปเที่ยวโตเกียว เชื่อว่าไม่มากก็น้อยต้องเคยสัมผัสประสบการณ์ "รถไฟแออัด" หรือเห็นชาวญี่ปุ่นอัดกันเข้ารถไฟเป็นปลากระป๋องอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ ทางการญี่ปุ่นจึงมีการคำนวณ "อัตราความแออัดของรถไฟ" ขึ้นมา มาดูกันว่ดีกว่าา 10 อันดับรถไฟสายที่ "แออัดที่สุด" ในโตเกียว คือสายอะไรกันบ้าง เผื่อในอนาคตจะได้หลีกเลี่ยงกันได้
"อัตราความแออัด" ของรถไฟญี่ปุ่นคืออะไร?
ในทุกๆ ปี "กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น" จะทำสำรวจ "อัตราความแออัด" ของรถไฟในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า "คนซัตสึริสึ (混雑率)" เพื่อทำความเข้าใจสภาพการเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน โดย "อัตราความแออัด" นี้คำนวณจาก "จำนวนผู้โดยสารต่อความจุของรถไฟ" โดยเกณฑ์ค่าตัวเลข 100% หมายถึง "ที่นั่งเต็ม แต่ยังมีราวให้ยืนจับได้ ไม่แออัด" แต่หากตัวเลขสูงกว่านี้ก็แสดงว่ายิ่งแออัดมากขึ้น
เกณฑ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ "ผู้โดยสารสามารถกางหนังสือพิมพ์อ่านได้สะดวกมากแค่ไหน" เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักจะชอบอ่านหนังสือพิมพ์บนรถไฟ หากสามารถกางหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ได้อย่างสะดวก แสดงว่ารถไฟไม่แออัดจนเกินไป ลองมาดูเกณฑ์ "อัตราความแออัด" กันว่ามีอะไรบ้าง
อัตราความแออัด 100% | ผู้โดยสารมีที่นั่งหรือห่วงราวให้จับ และมีที่ให้ยืนบริเวณทางเดินและประตู เป็นจำนวนผู้โดยสารที่เหมาะสมตามที่รัฐกำหนด |
---|---|
อัตราความแออัด 150% | ที่นั่งและห่วงราวจับเต็มหมด แต่ยังมีพื้นที่ให้ผู้โดยสารกางหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่อ่านได้ |
อัตราความแออัด 180% | ถ้าต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ ผู้โดยสารต้องพับหนังสือพิมพ์ให้เล็กลงจึงจะอ่านได้ |
อัตราความแออัด 200% | เริ่มรู้สึกถึงการเบียดเสียดระดับหนึ่ง แต่ยังพออ่านนิตยสารหรือหนังสือเล่มเล็กได้ |
อัตราความแออัด 250% |
ผู้โดยสารเบียดเสียดกันจนไม่สามารถขยับตัวได้ เมื่อรถไฟเลี้ยว เบรก หรือออกตัว ผู้โดยสารจะไหลไปตามแรงเฉื่อย บริเวณประตูมีผู้โดยสารยืนเบียดกันแน่น และอาจมีผู้โดยสารถูกประตูหนีบเมื่อประตูรถไฟปิดลง |
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ในบรรดารถไฟสายต่างๆ ของกรุงโตเกียวและเขตปริมณฑล (โตเกียว, คานากาวะ, ชิบะ, ไซตามะ) รถไฟสายไหน ช่วงเวลาใด ที่มี "อัตราความแออัด" สูงที่สุด ไปดู 10 อันดับแรกจากสถิติประจำปี 2022 กัน! (หมายเหตุ: เนื่องด้วยปี 2022 ญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ อันดับความแออัดของรถไฟจึงสะท้อนถึงพฤติกรรมการเดินทางของคนญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่ง "อัตราความแออัด" โดยรวมจะต่ำกว่าปกติ)
10 อันดับ รถไฟในโตเกียวที่มี "อัตราความแออัด" สูงสุด ปี 2022
อันดับ 10: [รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Hibiya] สถานี Minowa → Iriya
ช่วงเวลาพีค: 7:50~8:50 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 135%
ในปี 2022 มีรถไฟถึง 3 สายที่มี "อัตราความแออัด" อยู่ในอันดับที่ 10 ด้วยค่าเฉลี่ย 135% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ รถไฟสายแรกคือ รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Hibiya จากสถานี "Minowa" ไปยังสถานีถัดไป "Iriya" เส้นทางนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสถานี "Ueno" อันคึกคัก และถือเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ที่อยู่อาศัยและย่านธุรกิจของกรุงโตเกียว ทำให้ทุกเช้าในช่วงเวลาไปทำงานจะค่อนข้างแออัด แต่หากหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนนี้ ย่านมิโนวะถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบ บรรยากาศสบายๆ ชิลๆ ใกล้กันยังมีรถรางสาย "Toden Arakawa" ที่มีอายุกว่าร้อยปี และมีทิวทัศน์ที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ
อันดับ 10: [รถไฟใต้ดินสาย Toei Mita] สถานี Nishi-Sugamo → Sugamo
ช่วงเวลาพีค: 7:40~8:40 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 135%
อันดับ 10 อีกสายหนึ่งคือ รถไฟใต้ดินสาย Toei Mita จากสถานี "Nishi-Sugamo" ไปยังสถานี "Sugamo" ย่านซูกาโมะเป็นย่านนักท่องเที่ยวคุ้นเคยเป็นอย่างดี มีย่านร้านค้าอันโด่งดังอย่าง "ถนนชอปปิ้งซูกาโมะ จิโซโดริ (Sugamo Jizodori Shopping Street)" และเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่น ในช่วงเช้าจึงมีผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก หากคุณมาพักแถวย่านนี้ ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขึ้นรถไฟช่วงเช้าๆ นะ
อันดับ 10: [รถไฟใต้ดินสาย Toei Oedo] สถานี Nakai → Higashi-Nakano
ช่วงเวลาพีค: 7:50~8:50 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 135%
สถานี "Nakai" บนรถไฟใต้ดินสาย Toei Oedo อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเขตชินจูกุ หากขึ้นรถไฟไปทางทิศใต้หนึ่งสถานี ก็จะถึงสถานี "Higashi-Nakano" ซึ่งเป็นสถานีสำคัญที่ผู้โดยสารใช้เปลี่ยนไปขึ้นรถไฟสาย Chuo-Sobu เพื่อเดินทางไปยังสถานี "Shinjuku" ทำให้มีผู้โดยสารเป็นจำนวนมากในช่วงเช้า ส่วนย่าน "ฮิกาชินากาโนะ" เองก็เป็นย่านที่นักศึกษาและผู้มีรายได้จำกัดนิยมเช่าที่พักอาศัยอยู่ หากมาเที่ยวโตเกียวแล้วอยากหาที่พักใกล้ย่านชินจูกุในราคาประหยัด ลองหาที่พักแถวย่าน "ฮิกาชินากาโนะ" กันดูนะ
อันดับ 8: [รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Tozai] สถานี Kiba → Monzen-Nakacho
ช่วงเวลาพีค: 7:50~8:50 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 138%
อันดับที่ 8 คือ รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Tozai จากสถานี "Kiba" ไปยังสถานี "Monzen-Nakacho" สถานี "Kiba" ตั้งอยู่ในเขตโกโต มีบรรยากาศสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม เงียบสงบ มีการรักษาความปลอดภัยที่ดี แต่เนื่องจากมีผู้คนพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงเช้าจึงมีคนมากมายที่ต้องเดินทางเข้าเมืองโตเกียว ทำให้รถไฟแน่นเป็นพิเศษ ส่วนย่าน "มนเซน นากะโจ" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวในโตเกียว ที่นี่มีวัดเก่าแก่อย่าง "Fukagawa Fudodo" และถนนชอปปิ้งบรรยากาศย้อนยุค เหมาะแก่การเดินเล่นยามบ่ายแบบชิลๆ
อันดับ 8: [รถไฟสาย Tsukuba Express] สถานี Aoi → Kita-Senju
ช่วงเวลาพีค: 7:29~8:29 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 138%
รถไฟสาย "Tsukuba Express" เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างอากิฮาบาระในโตเกียวกับเมืองสึคุบะ จังหวัดอิบารากิ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างโตเกียวและอิบารากิให้สั้นลง กลายเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับผู้สัญจรไปมา ช่วงเช้าระหว่างสถานี "Aoi" ไปยังสถานีถัดไป "Kita-Senju" จะค่อนข้างแออัด เนื่องจากย่าน "คิตะเซ็นจู" เป็นย่านที่คึกคักที่สุดทางตอนเหนือของโตเกียว มีรถไฟหลายสายมาบรรจบกัน นอกจากนี้ "คิตะเซ็นจู" ยังมีชื่อเสียงเรื่องราคาค่าครองชีพต่ำ มีทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา และถนนช้อปปิ้งบรรยากาศย้อนยุค ที่รอให้คุณมาช้อปปิ้งกันได้อย่างจุใจ
อันดับ 6: [รถไฟ JR สาย Chuo] สถานี Nakano → Shinjuku
ช่วงเวลาพีค: 7:41~8:41 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 139%
อันดับที่ 6 คือ JR สาย Chuo จากสถานี "Nakano" ไปยังสถานี "Shinjuku" เมื่อพูดถึง "นากาโนะ" หลายๆ คนจะนึกถึงสวรรค์ของเหล่าแฟนอนิเมะอย่าง "Nakano Broadway" นอกจากนี้ นากาโนะยังมีระบบขนส่งที่สะดวก ครบครัน เหมาะแก่การอยู่อาศัย จึงทำให้มีประชากรย้ายเข้ามาอยู่หนาแน่น จากสถานี "Nakano" ไปทางทิศตะวันตกสามารถไปยังแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง คิจิโจจิ และ มิตากะ ได้ ส่วนทางทิศตะวันออกนั่งรถไฟด่วน JR สาย Chuo เพียง 5 นาทีก็ถึงสถานี "Shinjuku" ได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยเหตุนี้ทุกเช้าจึงมีนักเรียนและพนักงานออฟฟิศขึ้นรถไฟไปยังใจกลางเมืองกันเป็นจำนวนมาก ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง
อันดับ 6: [รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Chiyoda] สถานี Machiya → Nishi-Nippori
ช่วงเวลาพีค: 7:45~8:45 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 139%
รถไฟอีกสายหนึ่งที่ได้อันดับ 6 ด้วยอัตราความแออัด 139% คือ รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Chiyoda จากสถานี "Machiya" ไปสถานี "Nishi-Nippori" บริเวณนี้อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโตเกียวในเขตอารากาวะ ซึ่งมีบรรยากาศแบบเมืองเก่าญี่ปุ่น ผู้คนใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และเป็นย่านที่พักอาศัยที่มีประชากรหนาแน่นสูง ส่วนสถานี "Nishi-Nippori" ถือเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุดของเขตอารากาวะ มีทั้งรถไฟโตเกียวเมโทรสาย Chiyoda, รถไฟ JR สาย Yamanote และ สาย Nippori-Toneri ผ่านสถานีนี้ เปรียบเสมือนประตูสู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงโตเกียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงเช้าของที่นี่จะเต็มไปด้วยเหล่าพนักงานบริษัทที่จับรถไฟไปทำงาน
อันดับ 5: [รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Namboku] สถานี Komagome → Hon-Komagome
ช่วงเวลาพีค: 8:00~9:00 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 140%
รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Namboku ก็เป็นอีกหนึ่งสายที่ขึ้นชื่อเรื่องความแออัด โดยเฉพาะระหว่างสถานี "Komagome" ไปยังสถานีถัดไป "Hon-Komagome" ย่านนี้เต็มไปด้วยสถานศึกษาชั้นนำ ทั้ง "โรงเรียนประถมโคมาโกเมะ", "โรงเรียนมัธยมโคมาโกเมะ" รวมถึง "มหาวิทยาลัยโตโย" และถัดไปอีกหนึ่งสถานีก็จะถึง "Todaimae" ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโตเกียว นอกจากนี้ บริเวณสถานี "Komagome" ยังมีสวนริคุกิเอ็น, พิพิธภัณฑ์โทโยบุนโกะ และวัดวาอารามมากมาย รายล้อมไปด้วยธรรมชาติและมีความปลอดภัย กลายเป็นย่านที่พักอาศัยในฝันของใครหลายคน ช่วงเช้าจึงเต็มไปด้วยผู้คนที่มาใช้บริการรถไฟกันอย่างหนาแน่น
อันดับ 4: [รถไฟ JR สาย Keihin-Tohoku] สถานี Kawaguchi → Akabane
ช่วงเวลาพีค: 7:20~8:20 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 142%
รถไฟ JR สาย Keihin-Tohoku เป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองพื้นที่มหานคร 3 แห่ง ได้แก่ ไซตามะ โตเกียว และโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการเดินทางไปทำงานและไปโรงเรียนที่พลุกพล่านที่สุดในโตเกียว นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาโตเกียว ก็มีโอกาสได้ใช้บริการสายนี้อยู่บ่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเส้นทางจากสถานี "Kawaguchi" ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไซตามะไปยังสถานี "Akabane" ที่อยู่ทางตอนเหนือของโตเกียว มักจะเนืองแน่นไปด้วยผู้โดยสารที่ไปทำงานในตัวเมือง ช่วงวันธรรมดาผู้คนจะเริ่มทยอยขึ้นรถไฟตั้งแต่เช้าตรู่ประมาณ 6:30 น. และช่วงเวลาที่แออัดที่สุด คือ 7:20-8:20 น. หากไม่อยากขึ้นรถไฟที่แน่นขนัด ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงช่วงเวลานี้นะ
อันดับ 3: [รถไฟ JR สาย Musashino] สถานี Higashi-Urawa → Minami-Urawa
ช่วงเวลาพีค: 7:05~8:05 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 148%
อันดับที่ 3 ในการจัดอันดับครั้งนี้ คือ รถไฟ JR สาย Musashino ช่วงสถานี "Higashi-Urawa" ถึงสถานี "Minami-Urawa" ซึ่งรถไฟ JR สาย Musashino เป็นจุดเชื่อมต่อเขตต่างๆ รอบกรุงโตเกียว ตั้งแต่เขตสึรุมิ เมืองโยโกฮาม่า ผ่านไปยังจังหวัดไซตามะและชิบะ เปรียบเสมือนเข็มขัดที่รัดรอบกรุงโตเกียว กลายเป็นเส้นทางรถไฟที่สำคัญสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น แต่ที่นี่มีความพิเศษคือ ช่วงเวลาที่รถไฟแออัด จะต่างกันในตอนเช้าและตอนเย็น ช่วงเช้าจากสถานี "Higashi-Urawa → Minami-Urawa" ในจังหวัดไซตามะ เป็นช่วงที่คนพลุกพล่านที่สุด ช่วงเย็นจะเป็น "Nishi-Funabashi → Funabashi Houten" ที่แออัดกว่า เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนักในเส้นทางอื่นๆ
อันดับ 2: [รถไฟ JR สาย Saikyo] สถานี Itabashi → Ikebukuro
ช่วงเวลาพีค: 7:51~8:51 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 149%
เส้นทางรถไฟ JR สาย "Saikyo" เป็นจุดเชื่อมต่อสถานี Omiya ในจังหวัดไซตามะ ถึงสถานี Osaki ในโตเกียว โดยวิ่งผ่านย่านธุรกิจขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงโตเกียว เช่น "อิเคะบุคุโระ", "ชินจูกุ" และ "ชิบุย่า" โดยเฉพาะช่วงจากสถานี "Itabashi" ทางตอนเหนือของโตเกียว ไปยังสถานี "Ikebukuro" ผู้คนจะหนาแน่นมากที่สุด "อิตาบาชิ" ตั้งอยู่ชานเมืองของโตเกียว ติดกับจังหวัดไซตามะ ทำให้มีค่าครองชีพต่ำ ค่าเช่าที่พักและราคาสินค้าค่อนข้างถูก จึงมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วน "อิเคะบุคุโระ" เป็นหนึ่งในสามย่านธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของโตเกียว มีการคมนาคมสะดวกสบาย มีทั้งห้างสรรพสินค้า แหล่งบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางมามากมายในช่วงเช้าและเย็น
อันดับ 1: [รถไฟโตเกียวเมโทรสาย Nippori-Toneri Liner] สถานี Akado-Shogakkomae → Nishi-Nippori
ช่วงเวลาพีค: 7:20~8:20 น. / อัตราความแออัดเฉลี่ย: 155%
มาถึงอันดับ 1 ที่แออัดที่สุด! นั่นคือรถไฟสาย Nippori-Toneri Liner ที่ดำเนินการโดย Toei Transportation เส้นทางนี้วิ่งบนสะพานยกระดับ เชื่อมต่อเขตอาดาจิ เขตใหญ่ทางตอนเหนือของโตเกียว ไปยังสถานี "Nishi-Nippori" ย่านนี้ถือว่าอยู่ในเขตรอบนอกของโตเกียว ราคาบ้านค่อนข้างถูก มีเขตที่พักอาศัยกว้างขวาง ทุกเช้าจึงมีผู้โดยสารจำนวนมากใช้เส้นทางนี้เพื่อเดินทางเข้าเมือง ส่วนบริเวณ "นิชินิปโปริ" ไปจนถึง "นิปโปริ" มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ถนนชอปปิ้งยานากะกินซ่า, บันไดยูยาเกะดันดัน และศาลเจ้าเนซุ ตรอกซอกซอยที่นี่เต็มไปด้วยบรรยากาศเมืองเก่าของโตเกียว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน แต่หากมาเที่ยวย่านนี้ อย่าลืมเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนกันด้วยนะ!
เห็นได้ว่า ช่วง "เวลาเร่งด่วน" ของรถไฟในโตเกียวส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดินทางไปทำงาน สาเหตุหลักคือ โตเกียวเป็นเมืองที่มีลักษณะ "แยกที่อยู่อาศัยกับสถานที่ทำงาน" ออกจากกัน ประชากรจำนวนมากอาศัยอยู่ชานเมือง จำเป็นต้องใช้รถไฟเพื่อเดินทางเข้าตัวเมืองไปทำงาน จึงทำให้ช่วงเช้าเป็นช่วงที่ผู้คนหนาแน่นที่สุด ส่วนช่วงเย็น แม้เส้นทางการเดินทางตอนเลิกงานจะกระจายตัวออกไปบ้าง แต่ก็อาจมีโอกาสที่คุณจะเจอ "รถไฟอันหนาแน่น" ได้อยู่ดี "Japai Japan" จึงขอแนะนำให้ทุกคนที่วางแผนการท่องเที่ยวในโตเกียว พิจารณาในส่วนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพาเด็กหรือผู้สูงอายุเดินทางไปด้วย ควรหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วนเพื่อป้องกันการพลัดหลงและเดินทางได้อย่างปลอดภัย ให้ทริปของคุณสนุกสนานยิ่งขึ้นนะ
☞ อ่านเพิ่ม
・[[เที่ยวโตเกียวแบบฟรีสไตล์] อัปเดตสุดในปี 2024! สรุประบบขนส่งและเส้นทางรถไฟของโตเกียว
・เคยสัมผัส "เหตุฉุกเฉิน" บนรถไฟบ้างไหม! 4 ประเภทเหตุฉุกเฉินบนรถไฟ รู้ไว้อุ่นใจกว่า
เรียบเรียงโดย: Nene 2024.6
บรรณาธิการที่รับผิดชอบ: Yusho
แหล่งที่มาของวัสดุ: ทั่วประเทศตามพื้นที่! อันดับอัตราความแออัดของรถไฟฟ้า